แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่มีผู้ไปประกาศขอรับมฤดกของเจ้ามฤดกนั้นไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้กองมฤดกเพราะแม้จะไปรับ มฤดกได้ ก็ต้องเอามาใช้หนี้เจ้าหนี้กองมฤดกและเมื่อในฟ้องไม่ปรากฎว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นทายาทไปประกาศขอรับมฤดกนั้น ได้โดยแย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงยังไม่มีมูลมาฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็น ๒ สำนวน ๆ แรกฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๒ แปลง จำเลยไปแจ้งความเท็จต่ออำเภอว่าเป็นของ จ. และจำเลยเป็นบุตร จ. ขอรับมฤดก ขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ อีกสำนวนหนึ่งฟ้องว่าที่ดินอีก ๑ แปลงเป็นของ จ. ซึ่งเอาโจทก์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จ.ตาย โจทก์เป็นเจ้าหนี้กองมฤดกโดยได้เสียค่าเลี้ยงดู จ. ระหว่างป่วย และค่าปลงศพ จ. จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่แปลงนี้ จำเลยไปขอรับมฤดกขอให้ศาลแสดงว่า โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงและห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ
ศาลชั้นต้นฟังว่าที่ดิน ๒ แปลงแรกเป็นของโจทก์ส่วนแปลงที่ ๓ ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครองอยู่ พิพากษาว่าที่ ๒ แปลงแรกเป็นของโจทก์ แปลงที่ ๓ ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทั้ง ๒ แปลงเป็นที่ไม่มีหนังสือ นางป้อยกให้โจทก์แต่อายุ ๘ ขวบ ที่แปลงแรกเป็นของโจทก์ส่วนแปลงที่ ๒ ไม่ได้ความว่า จ.ปกครองแทนโจทก์หรือเพื่อโจทก์จึงไม่เป็นสิทธิแก่โจทก์ ส่วนแปลงที่ ๓ นั้นที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่หนี้เกี่ยวด้วยที่ดินนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องแปลงที่ ๒ ด้วย
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่าที่แปลงที่ ๒ จ.ได้ครอบครองแทนโจทก์หรือเพื่อโจทก์พ้องกับศาลชั้นต้น ส่วนแปลงที่ ๓ เห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงหรือไม่ แม้โจทก์จะมีสิทธิยึดหน่วงจริง แต่การที่จำเลยไปประกาศขอรับมฤดกนั้นหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ แม้จำเลยได้รับมฤดกที่แปลงนี้ ก็คงต้องเอามาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ในคำฟ้องของโจทก์ปรากฎว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์เลยโจทก์จึงยังไม่มีมูลมาฟ้องตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๕๕
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น