คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267-268/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 203 ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกันหรือมีการสืบพยาน ไม่มีข้อความแสดงว่า ให้ศาลต้องนัดหรือฟังคู่ความมาแถลงด้วยวาจา แต่มีข้อความแสดงว่า ศาลจะนัดให้คู่ความมาแถลงด้วยวาจาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่นัดให้คู่ความมาแถลงด้วยวาจา จึงไม่ผิดกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลล่างพิจารณาพิพากษากันมา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายนายคุงหมง แซ่เต็ง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๗
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าป้องกันตัว
สำนวนที่ ๒ นายสง่าจำเลยในสำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๔ กับพวก กลุ้มรุมทำร้ายโจทก์มีบาดเจ็บ โจทก์ใช้มือชกต่อยไปทางจำเลยที่ ๑ ทีหนึ่งเพื่อป้องกันตัว ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๕, ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า นายสง่าจำเลยเตนาชกต่อยนายงคุงหมง ได้รับบาดเจ็บสาหัส หาใช่นายคุงหมงกับพวกกลุ้มรุมทำร้ายนายสง่าจำเลยไม่ พิพากษาว่า นายสง่าผิดตามมาตรา ๒๙๗(๘) จำคุก ๖ เดือน ยกฟ้องคดีที่นายสง่าเป็นโจทก์
นายสง่าอุทธรณ์ทั้ง ๒ สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายสง่าฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำนวนแรกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเพียง ๖ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๐ สำนวนหลัง ศาลล่างยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๙
ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ผู้อุทธรณ์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจาแต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่จำเป็น ให้งดเสีย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๐๓ บัญญัติว่า ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกันหรือมีการสืบพยาน จึงเห็นว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่มีข้อความแสดงว่า ให้ศาลต้องนัดหรือต้องฟังคู่ความแถลงด้วยวาจา แต่มีข้อความแสดงว่า ศาลจะนัดให้คู่ความมาแถลงด้วยวาจาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่แล้วแต่ศาลเห็นสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่นัดให้คู่ความมาแถลงด้วยวาจา จึงไม่ผิดกฎหมาย พิพากษายืน.

Share