คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทจากจำเลยที่ 1 เจ้าของเดิมโจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 41 และเมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นผู้ซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ในปี พ.ศ.2522 และไปจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2523 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้นับแต่วันจดทะเบียนโอนดังกล่าว
คณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดมีมติเมื่อวันที่15 เมษายน 2524 ให้โจทก์คืนนาแก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ตัดดินในนาพิพาทไปขาย และขอเลิกการเช่ามติของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นมติซึ่งมีในภายหลังที่โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และเป็นเรื่องต่างประเด็นกัน จึงไม่อาจลบล้างสิทธิของโจทก์ได้ ทั้งโจทก์ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับในภายหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่นาโฉนดเลขที่ ๖๔๘๘ โจทก์เช่านาจากจำเลยที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมีสิทธิทำนามีกำหนด ๖ ปี ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อมาวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายนาให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๑๙๘,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๔๑ โจทก์มีสิทธิที่จะซื้อนาคืนจากจำเลยที่ ๒ ขอให้จำเลยทั้งสองจัดการโอนโฉนดเลขที่ ๖๔๘๘ ให้แก่โจทก์ และรับเงิน ๑๙๘,๐๐๐ บาท ไปจากโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่นาพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๒ ต่อมาวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๐ จำเลยที่ ๒ ขายให้จำเลยที่ ๑ และเช่านาพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงให้โจทก์เข้าทำนาแทน แต่ต้องนำค่าเช่ามามอบให้เพื่อจำเลยที่ ๒ นำไปชำระแก่จำเลยที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๒ ซื้อนาคืนตามข้อตกลง โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่านาพิพาทจากจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องแจ้งการขายให้ทราบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๘๘ ให้กับโจทก์และรับเงินจำนวน ๑๙๘,๐๐๐ บาทไปจากโจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ยินยอมให้โจทก์เช่านาพิพาทและยอมรับรู้ในการที่จำเลยที่ ๒ เอานาไปให้โจทก์เช่าช่วงด้วยแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทจากจำเลยที่ ๑ เจ้าของเดิม โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๔๑ และเมื่อจำเลยที่ ๒ รับว่าเป็นผู้ซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และไปจดทะเบียนโอนปรากฏตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.๒ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๓ โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๒ ได้
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าได้มีมติคณะกรรมการควบคุมการเช่านาเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๔ ให้โจทก์คืนนาทั้งหมดแก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ทราบแล้วและขอร้องทำนาที่เหลือ ๕ ไร่ซึ่งจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ซื้อคืนจากจำเลยที่ ๑ คณะกรรมการควบคุมค่าเช่านาอนุญาต และการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์มติคณะกรรมการประจำจังหวัดลพบุรีภายใน ๓๐ วัน หรือฟ้องต่อศาลคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวภายใน ๖๐ วันตามมาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะร้องคัดค้านหรือร้องต่อศาลเพื่อทำลายมติคณะกรรมการเช่านาประจำจังหวัดลพบุรี และขอให้ศาลเพิกถอนการซื้อขายนาพิพาทนั้น เห็นว่าโจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยทั้งสองได้นับแต่วันจำเลยที่ ๑ ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ ๒ เมื่อวันจดทะเบียนโอนวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๓ ส่วนมติคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดลพบุรีเพิ่งจะมีเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๔ ภายหลังสิทธิที่โจทก์จะขอซื้อนาพิพาทเกือบ ๑ ปี และมติคณะกรรมการควบคุมการเช่านาดังกล่าวก็เป็นเรื่องต่างประเด็นกันด้วย กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ ๒ ซื้อนาจากจำเลยที่ ๑ แล้วได้กล่าวหาว่าโจทก์ตักดินในนาพิพาทไปขายจึงขอเลิกการเช่านา ในที่สุดคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดฟังว่าโจทก์ได้ตักดินไปขายจริงจึงมีมติให้โจทก์คืนนาแก่จำเลยที่ ๒ มติของคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งมีขึ้นภายหลังที่โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๒ จึงไม่อาจลบล้างสิทธิของโจทก์ได้ ทั้งโจทก์ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาให้บังคับในภายหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share