คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อกรมสรรพากรซึ่งเป็นโจทก์ ได้แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะต้องเสียภาษีเท่าใด ถือว่ามีจำนวนหนี้ภาษีที่โต้แย้งกันแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยให้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลสิ้นสุดลงเสียก่อน การฟ้องให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่นำเงินของจำเลยที่ 1 ไปจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2-8 หาใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2-4 เป็นกรรมการ และจำเลยที่ 2-8 เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 409,438.62บาท ไปชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและได้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเงินคงเหลือ จำนวน115,803.86 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี และผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดหน้าที่โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2-8 โดยจำเลยที่ 2-8 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีอากรค้าง และยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์อันเป็นการชำระบัญชีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่สุจริต ซึ่งจำเลยที่ 1-8 จะต้องร่วมรับผิดชอบชำระให้แก่โจทก์ อนึ่ง คดีนี้ยังไม่ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยอาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 บัญญัติให้การฟ้องเรียกหนี้สินของบริษัทจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ในฐานเช่นนั้น ให้ดำเนินการฟ้องภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีเพื่อตั้งหลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 173 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1-8 ร่วมกันชำระภาษีจำนวน 409,438.62 บาท ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมรับผิดจำนวนไม่เกิน 115,803.86 บาทให้จำเลยที่ 1-8 ร่วมกันชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนเศษของเดือนให้คิดเป็นหนึ่งเดือน ในต้นเงินภาษี 236,865.74 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งแปดให้การทำนองเดียวกันว่า การประเมินภาษีอากรของโจทก์ไม่ถูกต้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้รับคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกประเมินมีสิทธิจะฟ้องต่อศาลได้ภายใน 30 วัน หนี้ดังกล่าวยังไม่ยุติโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532และในปี 2532 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ไม่ถูกต้องจึงได้ออกหมายเรียกไต่สวน และประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษี จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2534 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 15พฤษภาคม 2534 ไม่ครบ 30 วัน จำเลยที่ 1 อาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ แต่เนื่องจากคดีจะขาดอายุความ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ และวินิจฉัยว่า ในการเรียกเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนให้โจทก์ดำเนินการตั้งแต่ออกหมายเรียกไต่สวนแล้วทำการประเมินเมื่อมีการประเมินแล้ว ถ้าผู้เสียภาษีไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นตอนที่โจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะต้องเสียภาษีจำนวนเท่าใด ถือว่ามีจำนวนหนี้ภาษีที่โต้แย้งกันแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินภาษีไปชำระโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้สิ้นสุดลงเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2-8 นั้นปรากฏจากคำฟ้องว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดหน้าที่นำเงินของจำเลยที่ 1 ไปจ่ายคืนค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2-8 การฟ้องให้จำเลยที่ 2-8 ร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2 นำไปแบ่งให้จำเลยที่ 2-8 นั้น หาใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเฉพาะในส่วนที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและพิพากษาคดีเฉพาะของจำเลยที่ 1 ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง

Share