คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุที่โจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นในการลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์นั้น เป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยระเบียบของโจทก์ว่าด้วยระเบียบวินัย การลงโทษ และการให้ออกจากงานของลูกจ้าง ซึ่งระบุว่า เมื่อลูกจ้างผู้ใดมีความประพฤติไม่เป็นที่ไว้วางใจที่สมควรจะให้คงทำงานต่อไป เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร สั่งให้ลูกจ้างผู้ใดออกจากงานก็ให้กระทำได้ จำเลยจึงมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) เป็นบทบัญญัติที่บังคับใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเพราะการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้าง แต่กรณีนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องอะไรในคดีเลย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ ดังกล่าวมาปรับใช้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างทุกประการ หรือจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์คนละ 50,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) บัญญัติถึงกรณีที่ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างนั้นทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวนี้บังคับใช้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพราะการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างบัญญัติไว้อยู่ในหมวด 9 แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่กรณีโจทก์ที่ 2 นี้ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องอะไรในคดีเลย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับกรณีโจทก์ที่ 2 ได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยระเบียบและข้อบังคับไม่ปรากฏเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นการพิจารณาพิพากษาสั่งตามอำนาจของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีพิพาทรายนี้ จำเลยโดยนายเอนก ดวงอุดม หัวหน้ากองเดินรถ เขต 3 ตัวแทนของจำเลย มีคำสั่งเฉพาะที่ จน.6/15/463 ให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานฐานมีความประพฤติไม่เป็นที่ไว้วางใจ โดยได้มีคนร้ายลักน้ำมันเบนซินขององค์การเชื้อเพลิงจากรถบรรทุกน้ำมันขณะจอดอยู่ในรางที่บริเวณสถานีรถไฟนครสวรรค์ โจทก์ที่ 2 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการลักน้ำมันรายนี้ด้วย มีพฤติการณ์ที่น่าถูกตำหนิ ซึ่งตามระเบียบการฉบับที่ 61 ว่าด้วยระเบียบวินัย การลงโทษและการให้ออกจากงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2515 ข้อ 21.2 ระบุว่า เมื่อลูกจ้างผู้ใดมีความประพฤติไม่เป็นที่ไว้วางใจที่สมควรจะให้คงทำงานต่อไป เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรสั่งให้ลูกจ้างผู้ใดออกจากงานก็ให้กระทำได้ กรณีโจทก์ที่ 2 การเลิกจ้างชอบด้วยระเบียบและข้อบังคับดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ได้ ไม่ปรากฏเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร”

พิพากษายืน

Share