แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของช้างพลายนวล จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรจำเลยที่ 3 และเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาช้างพลายนวลไว้แทนเจ้าของ จำเลยที่ 4 และที่ 5 นำช้างพลายนวลเข้ามาแห่ในงานขบวนแห่นาคกับช้างอื่น ๆ ซึ่งมีช้างของโจทก์รวมอยู่ด้วย ช้างพลายนวลชนช้างของโจทก์ได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 5 นำช้างมาร่วมในขบวนแห่นาคเพราะอยู่คนละหมู่บ้านกัน แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาช้างพลายนวลโดยเด็ดขาด โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รับประโยชน์และเกี่ยวข้องด้วย ความรับผิดย่อมตกแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับผิดชดใช้ราคาช้างให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
ก่อนจำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์เสียเกินมา 2,097.50 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และนายศักดิ์ สามีเป็นเจ้าของช้างพังบุญร่วม จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของช้างพลายนวล มีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 ขณะที่ช้างพังบุญร่วมและช้างพลายนวลเข้าร่วมขบวนแห่นาคกับช้างเชือกอื่น ช้างพังบุญร่วมได้ตกลงไปในคลองข้างทางได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายศักดิ์ ต่อมาประมาณ 1 เดือน ช้างพังบุญร่วมก็ถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ประการแรกว่า เหตุที่ช้างพังบุญร่วมตกลงไปในคลองข้างทางเนื่องจากถูกช้างพลายนวลชนจริงหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าขณะอยู่ในขบวนแห่นาคช้างพลายนวลได้ชนช้างพังบุญร่วมอย่างแรงจนตกลงไปในคลองได้รับบาดเจ็บและได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของพิสูจน์ไม่ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของช้างพลายนวลจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรจำเลยที่ 3 ก็ได้ความจากนายศักดิ์พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 นำช้างพลายนวลไปเลี้ยงที่บ้านไม่ถึง 10 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 5 นำช้างมาร่วมในขบวนแห่นาคเพราะอยู่คนละหมู่บ้านกัน แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาช้างพลายนวลโดยเด็ดขาด โดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รับประโยชน์และเกี่ยวข้องด้วย ความรับผิดย่อมตกแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้รับเลี้ยงรับรักษาแทนเจ้าของ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาท แทนโจทก์.