คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของโจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนซึ่งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19632 ฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวและเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนกลับเป็นชื่อโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ หากโฉนดที่ดินสูญหายหรือถูกทำลายหรือไม่สามารถส่งมอบคืนได้ ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) และโจทก์ถึงแก่ความตาย นายบารฮิม บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมขอให้บังคับให้โจทก์กับจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,675,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19632 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางทิม ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกเว้นในส่วนของค่าขึ้นศาลไม่ต้องใช้แทน กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,675,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและระยะเวลาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทนายความใช้แทนในส่วนฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้น 7,500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วม และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในส่วนฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และในส่วนฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 19632 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 มีคนร้ายแอบอ้างเป็นโจทก์นำโฉนดที่ดินที่ลักไปจากโจทก์ก่อนหน้านี้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 3,675,000 บาท โดยคนร้ายแสดงบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านปลอมที่ปรากฏชื่อโจทก์ตรงกับโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ 1 ผู้รับจำนองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดกรมที่ดินจำเลยร่วมและมีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลงเชื่อว่าคนร้ายเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงรับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 จึงมอบเงินและแคชเชียร์เช็คตามจำนวนเงินกู้แก่คนร้าย 3,675,000 บาท วันเดียวกันคนร้ายยังแอบอ้างชื่อโจทก์และใช้บัตรประจำตัวปลอมไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาธนบุรี – ปากท่อ นำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ไปขึ้นเงิน ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์และบุตรไปสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง เพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรจึงทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วและโฉนดที่ดินที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นโฉนดปลอม เจ้าพนักงานที่ดินจึงแจ้งจำเลยที่ 1 และตรวจสอบสารบบที่ดินพิพาทแต่ไม่พบเอกสารต่าง ๆ ในสารบบที่ดินดังกล่าวและมีการแจ้งความเอกสารสูญหายไว้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยเพื่อบังคับจำนองชำระหนี้เงินกู้จำนวน 3,675,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ย.1451/2546 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าว ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้กู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นายมาโนช และนายวุฒิศักดิ์ เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ปลอมเอกสารราชการและเอกสารสิทธิ กับใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3507/2550 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมิได้กระทำโดยจงใจเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมมีว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามทางพิจารณาได้ความว่า สารบบโฉนดที่ดินพิพาทเพิ่งสูญหายไปภายหลังจากมีการจดทะเบียนจำนองวันที่ 4 ตุลาคม 2544 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ในขณะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท สารบบโฉนดที่ดินพิพาทยังคงมีอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานจำเลยร่วมว่า จำเลยที่ 2 ตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนของนางทิม ผู้จำนองแล้วเห็นว่าเป็นบุคคลเดียวกับภาพในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในสารบบโฉนดที่ดินพิพาทนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า หญิงคนร้ายเคยแอบอ้างเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาแล้วครั้งหนึ่งจึงปรากฏสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอมของคนร้าย ในสารบบโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งคนร้ายอาจเคยอ้างชื่อโจทก์ในการขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ที่ปรากฏชื่อโจทก์ในการขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินและเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินให้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2544 ซึ่งอาจเป็นหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินที่นายมาโนชนำไปแสดงต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอกู้เงินในเดือนกันยายน 2544 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปรากฏสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอมของคนร้ายอยู่ในสารบบโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่โจทก์จะเดินไม่ได้ในปี 2540 ปรากฏว่าวันที่ 4 พฤษภาคม 2538 โจทก์เคยขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาท ดังนั้น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่แท้จริง ซึ่งออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 และมีข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ตรงกับของโจทก์จะต้องปรากฏอยู่ในสารบบโฉนดที่ดินพิพาทแล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2538 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบสารบบโฉนดที่ดินพิพาทโดยละเอียดแล้วก็จะพบว่าคนร้ายที่เป็นหญิงแอบอ้างเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีบัตรประจำตัวประชาชนปลอมเช่นเดียวกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมีใบหน้าไม่ตรงกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ ซึ่งอยู่ในสารบบโฉนดที่ดินมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2538 แล้ว เช่นนี้ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการตรวจสอบสารบบโฉนดที่ดินพิพาทจนเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถแอบอ้างเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 1 ให้ได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 1 แต่เมื่อความเสียหายของจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงินกู้ 3,675,000 บาท เกิดมาจากการกระทำโดยทุจริตของคนร้ายกับพวกที่ร่วมกันหลอกลวงทำทีเป็นขอกู้เงินโดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำโดยเจตนาทุจริตของคนร้ายกับพวกที่จะต้องรับผิดเต็มตามจำนวนความเสียหายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาทุจริตร่วมกับคนร้ายด้วย จึงไม่จำต้องรับผิดเต็มตามจำนวนความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดเพียงการกระทำโดยประมาทในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ประกอบกับวินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย จึงเห็นควรให้จำเลยร่วมรับผิดในการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนวน 500,000 บาท ตามมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และ 224 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าจำเลยร่วมผิดนัดนับแต่เวลาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดคือวันที่จดทะเบียนจำนองในวันที่ 4 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมและชอบที่จะฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีต่างหาก จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายโดยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 และ 178 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าการกระทำของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ฟ้องแย้งนั้นจะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนนั้น ให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (3) (ก) นี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (3) (ก) แล้ว จำเลยร่วมจึงมีฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามและมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าจำเลยร่วมได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งโจทก์และจำเลยร่วมมาในฉบับเดียวกัน จึงต้องแยกพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวโต้แย้งสิทธิของคู่ความฝ่ายใด โจทก์เดิมหรือจำเลยร่วม เมื่อคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,675,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงถือคำขอบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้เป็นคำฟ้องเริ่มต้นคดีที่บังคับเอาแก่จำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) และ 58 แล้ว มิใช่คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ขอบังคับแก่โจทก์เดิมที่จะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม ตามมาตรา 177 วรรคสาม ฎีกาจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ในชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share