คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า หรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม ฯลฯเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และมาตรา 11กำหนดให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆดังนั้น ประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามและระบุตำแหน่งไว้ท้ายประกาศด้วยว่า “อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข”กำหนดให้ผู้ยื่นขอต่อใบอนุญาตให้มี ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ทำการแก้ไขเครื่องรับส่งวิทยุให้มีกำลังส่งไม่เกิน 10 วัตต์ หรือความถี่ไม่เกินย่าน144-146เมกะเฮิรตซ์จึงเป็นประกาศของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขผู้มีอำนาจและชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดกับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประจำปี พ.ศ. 2528 และปีต่อ ๆ ไป ให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่ทั้งหกรายการตามฟ้องให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่า พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจที่จะกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติในแต่ระยะเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสม ในปี พ.ศ. 2528 เมื่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ออกประกาศแล้ว จำเลยทั้งสามได้ใช้เงื่อนไขรายละเอียดตามประกาศดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตต่อผู้ยื่นขออนุญาตทุกรายการรวมทั้งโจทก์ หากโจทก์ได้ทำการแก้ไขปรับปรุงเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าวจำเลยทั้งสามก็จะพิจารณาอนุญาตให้โจทก์มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคม แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม อาศัยอำนาจโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และระเบียบแบบแผนดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติไปโดยอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จึงไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปีพ.ศ. 2524 โจทก์ได้รับอนุญาตให้ “มี” “ใช้” เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่ในกิจการวิทยุอาสาสมัครรวม 6 รายการคือ ได้รับอนุญาตให้ “มี” เครื่องวิทยุคมนาคม HF/FM ยี่ห้อ KENWOODเครื่องวิทยุคมนาคม HF/FM ยี่ห้อ YAESU เครื่องวิทยุคมนาคมแบบIC-251 A ยี่ห้อ ICOM รวม 3 รายการ และได้รับอนุญาตให้ “ใช้”เครื่องวิทยุคมนาคมแบบ IC-251 A ยี่ห้อ ICOM และเครื่องวิทยุคมนาคมยี่ห้อ YAESU แบบ FT-208 R รวม 2 รายการ กับได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่กำลังส่ง 10 วัตต์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมประจำที่ในกิจการวิทยุอาสาสมัครประจำปี พ.ศ. 2525, 2526และ 2527 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้พิจารณาและอนุมัติต่อใบอนุญาตทั้งหกรายการให้โจทก์เป็นประจำทุกปี เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2527โจทก์ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตประจำปี พ.ศ. 2528 เพื่อให้มีใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมทั้งหกรายการดังกล่าวแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับโดยชอบหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 11 ได้กำหนดให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นอำนาจของกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากออกไปอย่างใด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประกาศดังกล่าวเป็นประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขแม้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ลงนามก็ตามแต่ก็เป็นการลงนามแทนกรมไปรษณีย์โทรเลขจะถือว่าเป็นการลงนามในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 หาได้ไม่ เห็นว่า ประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 ได้ลงนามโดยจำเลยที่ 1 และได้ระบุตำแหน่งไว้ท้ายประกาศด้วยว่า “อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข”จึงถือได้ว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นประกาศของอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขแล้ว และเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปโจทก์ฎีกาว่า ประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 ขัดกับมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 เพราะประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตลอดจนตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ในปี พ.ศ. 2528 ต้องทำการแก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมให้มีกำลังส่งไม่เกิน 10 วัตต์ และหรือมีความถี่ไม่เกินย่าน 144-146 เมกะเฮิรตซ์เสียก่อน เห็นว่า ความหมายของมาตรา 6กับความหมายในประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวแตกต่างกันไปคนละความหมาย กล่าวคือ ความในมาตรา 6 มีเจตนามุ่งที่จะห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า หรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม ฯลฯเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 23 แม้คำว่า “ทำ” จะหมายความรวมตลอดถึงการประกอบขึ้น การแปรสภาพหรือกลับสร้างใหม่ก็ตาม แต่การกระทำต่าง ๆ ดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเสียก่อนส่วนประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตให้ มี ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม ตลอดจนตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในปี พ.ศ. 2528 ทำการแก้ไขเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมตามที่กำหนดไว้ในประกาศ เป็นการใช้อำนาจควบคุมและกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่าง ๆ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 11 ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและส่วนรวม แต่ถ้าผู้ขอต่อใบอนุญาตให้มีใช้เครื่องวิทยุคมนาคมหรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคมได้แก้ไขเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศดังกล่าว จำเลยทั้งสามก็พร้อมที่จะต่อใบอนุญาตประจำปี พ.ศ. 2528 ให้ การที่โจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยทั้งสามจึงไม่ต่อใบอนุญาตให้นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share