คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยหาว่าละเมิดเข้ามาระเบิดเอาหินไปจากที่อันเป็นสิทธิของโจทก์ และเรียกค่าเสียหาย 140,000 บาทกับค่าเสียหายวันละ 840 บาท ตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะหยุดทำการระเบิดและขุดต่อยหิน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดพิจารณา และจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่อยู่ โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกสำนวนหนึ่งว่า จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่พิพาท ซึ่งโจทก์ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาท กับค่าเสียหายวันละ 420 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะสละการครอบครองรื้อถอนโรงเรือน สะพานและวัตถุระเบิดออกไปจากที่พิพาทดังนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144,148

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่พิพาท ซึ่งโจทก์ชนะคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาท กับค่าเสียหายวันละ 420 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะสละการครอบครองรื้อถอนโรงเรือน สะพานและวัตถุระเบิดออกไปจากที่พิพาท

ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยหาว่าละเมิดเข้ามาระเบิดเอาหินไปจากที่อันเป็นสิทธิของโจทก์ และเรียกค่าเสียหาย 140,000 บาท กับค่าเสียหายวันละ 840 บาท ตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะหยุดทำการระเบิดและขุดต่อยหินในที่พิพาทมาครั้งหนึ่งแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่อยู่

ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมีประเด็นข้อหาอย่างเดียวกัน คือ จำเลยละเมิดเข้ามาขัดขวางสิทธิของโจทก์ในที่พิพาท เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์จะเรียกค่าเสียหายเท่าใดก็ชอบที่จะเรียกได้แต่เพียงครั้งเดียว เว้นไว้แต่จำเลยจะได้กระทำละเมิดขึ้นใหม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เรื่องนี้ถ้าหากจะฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นเรื่องละเมิดติดต่อกันมา โจทก์จะมาฟ้องเรียกค่าเสียหายสองครั้งสองหนเช่นนี้ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และ 148” พิพากษายืน

Share