คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมหรือข้อกระดูกสันหลังติดมีอาการปวดหลัง แพทย์ให้การรักษาโดยวิธีกายภาพบำบัดและฝังเข็มความไม่ปรากฏตามความเห็นของแพทย์ว่า อาการป่วยของจำเลยรุนแรงถึงขนาดจำเลยลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ หรือมีความจำเสื่อมจนจดจำอะไรไม่ได้แต่อย่างใด ฉะนั้น อาการป่วยของจำเลยจึงไม่ใช่สาเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังนั้น เมื่อจำเลยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้วจำเลยไม่ยื่นคำให้การหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนด 8 วันนับแต่วันรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ….. มาตรา 177 เดิม จำเลยก็ได้ชื่อว่าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 วรรคสอง จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเป็นสัญญาปลอมนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีจึงไม่มีประเด็นในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ถือว่าเป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง…..มาตรา 249 วรรคแรก ในคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ได้ชำระเงินในวันทำสัญญา52,220 บาท แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่า โจทก์ชำระเงินค่าซื้อในวันทำสัญญาเพียง 2,220 บาท และในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการชำระเงินในวันทำสัญญาระบุว่าจำเลยได้รับเงินค่าซื้อจากโจทก์ 52,000 บาท ไม่ใช่จำนวน 52,220 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบอธิบายได้ว่ามีการนำยอดเงินจำนวน 50,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ล่วงหน้าไปแล้วมาหักออกก่อน ส่วนอีก 2,220 บาท โจทก์เห็นว่าเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยโจทก์จึงไม่ได้ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินด้วย ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อนำสืบที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับคำฟ้องหรือพยานหลักฐานของโจทก์ หากแต่เป็นการนำสืบอธิบายถึงความเป็นมาแห่งยอดเงินที่ได้ชำระในวันทำสัญญาว่า มีความเป็นมาอย่างไร จึงรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากจำเลยราคา 300,000 บาท ชำระในวันทำสัญญา 52,220 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดแรกจำนวน168,000 บาท งวดที่สองจำนวน 79,800 บาท โดยจะนำเงินที่จำเลยยืมจากโจทก์จำนวน 52,000 บาท มาหักชำระ กำหนดไปจดทะเบียนโอน โจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอน แต่จำเลยขอผัดผ่อน ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2622 ตำบลสวายจีกอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ และคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การโดยอ้างว่าหลังจากจำเลยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วจำเลยป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ ลุกไม่ขึ้น และป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ความจำเสื่อมถอยหลงลืมง่ายไม่สามารถจดจำอะไรได้ จำเลยเข้าใจว่าหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวเป็นหมายนัดในคดีอื่น ซึ่งจำเลยเป็นคู่ความอยู่ก่อนแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การนั้น เห็นว่าในชั้นไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ จำเลยไม่ได้นำสืบให้ได้ความตามคำร้องว่าหลังจากจำเลยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยป่วย จนกระทั่งไม่สามารถลุกขึ้นไปไหนมาไหนได้ หรือจำเลยป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมหลงลืมจนไม่สามารถจดจำอะไรได้ และเมื่อได้พิจารณาแบบใบแสดงความเห็นของแพทย์ทั้งฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2533 และฉบับลงวันที่ 15พฤษภาคม 2533 ที่จำเลยยื่นประกอบคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลชั้นต้นแล้วจะเห็นได้ว่าแพทย์มีความเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมหรือข้อกระดูกสันหลังติด มีอาการปวดหลังแพทย์ให้การรักษาโดยวิธีกายภาพบำบัดและฝังเข็มความไม่ปรากฏตามความเห็นของแพทย์ว่า อาการป่วยของจำเลยรุนแรงถึงขนาดจำเลยลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ หรือมีความจำเสื่อมจนจดจำอะไรไม่ได้แต่อย่างใด ฉะนั้นอาการป่วยของจำเลยจึงไม่ใช่สาเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การดังที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว จำเลยไม่ยื่นคำให้การหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นเสียภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 เดิม จำเลยก็ได้ชื่อว่าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเป็นสัญญาปลอมนั้น เห็นว่าจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าวในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ถือว่าเป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาของจำเลยข้อต่อมาที่ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น โจทก์มีตัวโจทก์ นายธีระ วรรณมณี และนายสุมิตรวงศ์วิเศษสิริกุล เบิกความประกอบหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าโจทก์ตกลงจะซื้อที่พิพาทจากจำเลยในราคา 300,000 บาท โดยชำระเงินค่าซื้อกันในวันทำสัญญาจำนวน 52,220 บาท และทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้นำเงินจำนวน 50,000 บาท ที่จำเลยรับล่วงหน้าไปแล้วมาหักออกจากยอดเงินค่าซื้อด้วย ส่วนราคาที่เหลืออีกจำนวน 247,800 บาทตกลงแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532จำนวน 168,000 บาท งวดที่สองชำระภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2532จำนวน 79,800 บาท ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อทั้งสองงวดให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบแสดงได้ว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกันและได้มีการชำระเงินค่าซื้อกันแล้วตามเอกสารที่โจทก์นำสืบ จริงอยู่แม้โจทก์จะนำสืบถึงการชำระเงินค่าซื้อในวันทำสัญญาไม่ตรงกับคำฟ้องอยู่บ้างคือในคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์ได้ชำระเงินในวันทำสัญญาจำนวน 52,220 บาท แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์และนายธีระเบิกความว่าโจทก์ชำระเงินค่าซื้อในวันทำสัญญาเพียง 2,220 บาท และในสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการชำระเงินในวันทำสัญญาระบุว่าจำเลยได้รับเงินค่าซื้อจากโจทก์จำนวน 52,000 บาท ไม่ใช่จำนวน52,220 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ก็นำสืบอธิบายได้ว่ามีการนำยอดเงินจำนวน 50,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ล่วงหน้าไปแล้วมาหักออกก่อนส่วนอีก 2,220 บาท โจทก์เห็นว่าเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยโจทก์จึงไม่ได้ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินด้วย ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าว จึงมิใช่ข้อนำสืบที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับคำฟ้องหรือพยานหลักฐานของโจทก์ หากแต่เป็นการนำสืบอธิบายถึงความเป็นมาแห่งยอดเงินที่ได้ชำระในวันทำสัญญาว่ามีความเป็นมาอย่างไรพยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริง และฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะขายดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องตกเป็นผู้แพ้คดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share