คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ทั้งยังขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิ และจำเลยใช้และอ้างบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอม และสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากอันเป็นเอกสารปลอม โดยนำสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากไปทำสำเนาภาพถ่ายเฉพาะหน้าที่จำเลยปลอมแล้วนำสำเนาภาพถ่ายอันเป็นเอกสารปลอมที่จำเลยรับรองถูกต้องพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นแสดงต่อพนักงานของบริษัท ก. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิกับใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่จำเลยได้ใช้เอกสารราชการปลอมและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมในคราวเดียวกันด้วย ดังนั้น ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ใช้เอกสารราชการปลอม และใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 พระราชบัญญัติบัตรประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักตามตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) (ที่ถูกความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม กับความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จึงลงโทษฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (2) แต่กระทงเดียวตามมาตรา 14 วรรคสอง) จำคุก 2 ปี ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ทำนองปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ทั้งยังขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการและธนาคารออกให้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงตนของบุคคลและหลักฐานในการฝากและถอนเงิน แล้วจำเลยใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร และสมัครเป็นสมาชิกสินเชื่อบุคคลกับบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด เพื่อขอสินเชื่อ นับเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูมารดา ก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิและจำเลยใช้และอ้างบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอม และสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากอันเป็นเอกสารปลอมโดยนำสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากไปทำสำเนาภาพถ่ายเฉพาะหน้าที่จำเลยปลอมแล้วนำสำเนาภาพถ่ายอันเป็นเอกสารปลอมที่จำเลยรับรองถูกต้องพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นแสดงต่อพนักงานของบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิกับใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่จำเลยได้ใช้เอกสารราชการปลอมและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมในคราวเดียวกันด้วย ดังนั้น ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ใช้เอกสารราชการปลอม และใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม (สมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาหัวหมาก) เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ใช้เอกสารราชการปลอม และใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share