คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากงาน จำเลยอ้างเหตุ เพียงว่าโจทก์ละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลเพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้ประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานวินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ได้แก่ 1. เล่นการพนัน 2. ดื่มสุราในโรงงาน3. ทะเลาะวิวาทในโรงงาน 4. ปั๊มบัตรบันทึกเวลาแทนกันดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราที่บ้านพักของโจทก์ที่ 5 โดยโจทก์ทั้งแปดมิได้ดื่มสุราในโรงงานจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ดังนี้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไปการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว เมื่อจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคท้าย กรณีจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ศาลแรงงานนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ในวันนัดดังกล่าวจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลแรงงานมิได้สืบพยานโจทก์ ทั้งได้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบเป็นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อนโดยเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดโจทก์จึงได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8
โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างจำเลยวันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 และ 26 ของเดือนเมื่อวันที่30 เมษายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปด โดยโจทก์ทั้งแปดไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ในการทำงานกับจำเลย จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5ที่ 6 และที่ 8 ไว้เป็นเงินประกันโดยจำเลยจะคืนเงินประกันดังกล่าวให้เมื่อโจทก์แต่ละคนออกจากงานโดยไม่ก่อความเสียหายให้แก่จำเลย หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5ที่ 6 และที่ 8 แล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกันตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ทั้งจำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ตั้งแต่วันที่16 ถึง 29 เมษายน 2540 นอกจากนี้จำเลยยังสั่งให้โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ทำงานล่วงเวลาตามวันเวลาที่ระบุในบัญชีค่าล่วงเวลาเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน และจำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 มาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์โดยจำเลยไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์แก่โจทก์แต่ละคนขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินประกัน ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งแปดสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า ค่าจ้างค้างจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ และเงินประกันของโจทก์แต่ละคนจำเลยได้ชำระให้แล้ว เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปด เพราะเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 โจทก์ทั้งแปดร่วมกันชัดชวน ยุยง ปลุกปั่น ลูกจ้างจำเลยแผนกแม่พิมพ์ทั้งหมดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุรา ไม่ยอมเข้าทำงานตั้งแต่เวลา12.30 นาฬิกา จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดเข้าทำงานแต่โจทก์ทั้งแปดไม่ยอมเข้าทำงานจนกระทั่งถึงเวลา 16.00 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาเลิกงาน การกระทำของโจทก์ทั้งแปดเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไม่เข้าทำงานเป็นเหตุให้กระบวนการทำงานของแผนกแม่พิมพ์ขาดตอนโดยโจทก์ทั้งแปดทราบดีว่า งานที่ทำเป็นงานเร่งด่วน มีกำหนดส่งมอบให้ลูกค้าในวันที่ 30 เมษายน 2540 การกระทำของโจทก์ทั้งแปดเป็นเหตุให้งานไม่เสร็จตามกำหนด ลูกค้าระงับคำสั่งซื้อทั้งหมดจำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 313,200 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งแปดร่วมกันชำระเงินจำนวน313,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งแปดให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งแปดไม่ได้ร่วมชุมนุมชักชวน ยุยง ปลุกปั่น ลูกจ้างจำเลยแผนกแม่พิมพ์ทั้งในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวไม่มีงานเร่งด่วน จำเลยไม่ได้รับความเสียหาย หากเสียหาย ค่าเสียหายก็ไม่เกิน 1,500 บาทขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,100 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 57,906 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 19,890 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 5,700 บาทโจทก์ที่ 5 จำนวน 4,950 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 5,250 บาทโจทก์ที่ 7 จำนวน 4,710 บาท และโจทก์ที่ 8 จำนวน 33,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศของจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ที่ลงประกาศปลดโจทก์ทั้งแปดออกจากงาน จำเลยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ทั้งแปดละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วยดังนี้เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในประกาศเท่านั้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ จำเลยจึงยกเหตุว่าโจทก์ทั้งแปดจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้ประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วไปร่วมกันดื่มสุราดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่าตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 7 ระเบียบวินัยและโทษทางวินัย จำเลยได้กำหนดโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ได้แก่ 1. เล่นการพนัน 2. ดื่มสุราในโรงงาน 3. ทะเลาะวิวาทในโรงงาน 4. ปั๊มบัตรบันทึกเวลาแทนกัน เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราที่บ้านพักของโจทก์ที่ 5 แต่ไม่เป็นการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวข้อ 7.3.5 เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งแปดมิได้ดื่มสุราในโรงงานแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 7.3.10 ซึ่งมิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรง
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งแปดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทั้งแปดได้รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งแล้ว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งแปดจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น เห็นว่า คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไป การดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคท้าย เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคท้ายได้กำหนดเรื่องระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีนี้จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ศาลแรงงานกลางนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันนั้นจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ทั้งแปดรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลแรงงานกลางมิได้สืบพยานโจทก์ทั้งได้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบเป็นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อนโดยเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 เมื่อถึงวันนัดทนายโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ขอเลื่อนคดีศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยวันที่ 26 สิงหาคม 2540ครั้นถึงวันนัดโจทก์ทั้งแปด ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งฉบับลงวันที่26 สิงหาคม 2540 เช่นนี้แม้โจทก์ทั้งแปดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งก็ตาม โจทก์ทั้งแปดก็มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งแปดจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share