คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำรถยนต์กระบะส่วนตัวของโจทก์รับแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยออกจากโรงแรมของจำเลยไปส่งที่นอกโรงแรมจำนวน 2 ครั้ง แม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ก็มีลักษณะเป็นค่าทิปหรือสินน้ำใจจากแขกที่อาศัยรถยนต์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจการค้าหรือมุ่งหวังจะรับส่งแขกของจำเลยโดยเรียกค่าบริการแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริการของจำเลย การรับส่งแขกดังกล่าวโจทก์ก็มิได้แอบอ้างว่าเป็นธุรกิจของจำเลย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงในธุรกิจของจำเลย การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 67,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 67,100 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 1,610,400 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ลักลอบนำรถยนต์ส่วนตัวไปดำเนินการค้าและรับส่งลูกค้าของจำเลยโดยเรียกและรับค่าบริการ ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 67,000 บาท แก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์
ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยนำรถยนต์ส่วนตัวรับส่งแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 และ 14 มกราคม 2542 โจทก์นำรถยนต์กระบะส่วนตัวของโจทก์รับแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยออกจากโรงแรมของจำเลยไปส่งที่ถนนใหญ่หน้าโรงแรม 1 ครั้ง และไปส่งในเมืองภูเก็ตอีก 1 ครั้ง และแม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน200 บาท ก็มีลักษณะเป็นค่าทิปหรือสินน้ำใจจากแขกที่อาศัยรถยนต์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจการค้าหรือมุ่งหวังจะรับส่งแขกของจำเลยโดยเรียกค่าบริการแต่อย่างใด ระยะเวลาที่โจทก์รับแขกของจำเลยออกจากโรงแรมครั้งแรกและครั้งที่ 2 ก็ห่างกันถึง 5 วัน การกระทำของโจทก์มิได้มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริการของจำเลย ประกอบกับการรับส่งแขกดังกล่าวโจทก์มิได้แอบอ้างว่าเป็นธุรกิจของจำเลยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงในธุรกิจของจำเลยแต่ประการใด การกระทำของโจทก์แม้จะรับฟังได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่ลักษณะของการกระทำของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์รับส่งแขกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยในเวลาทำงานหรือไม่ ประกอบกับสภาพของความเสียหายที่อาจจะก่อให้เกิดแก่จำเลยแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share