แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทางน้ำพิพาทในที่นาของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำในร่องน้ำกุดปลาค้าวที่อยู่ทางทิศตะวันตกนาโจทก์ไหลซัดเซาะเข้ามาในนาของโจทก์เมื่อประมาณ 16 ปีมานี้ แล้วไหลผ่านนาโจทก์ไปทางทิศตะวันออกเป็นทางน้ำคดเคี้ยวไปจดลำห้วยหนองขอนกลองซึ่งอยู่นอกที่นาของโจทก์นั้น เป็นทางน้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แม้กำเนิดของทางน้ำจะอยู่นอกเขตที่นาของโจทก์ก็ต้องเป็นของโจทก์ ทางน้ำดังกล่าวจะเป็นทางน้ำสาธารณะได้ก็โดยโจทก์อุทิศให้แก่ทางการโดยตรงหรือโดยปริยาย การที่ประชาชนปล่อยสัตว์พาหนะลงกินน้ำที่ทางน้ำพิพาทยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทิศโดยปริยายทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นทางน้ำสาธารณะ โดยสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นทางน้ำที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีนา 1 แปลง เนื้อที่ 24 ไร่ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีร่องน้ำกุดปลาค้าวไหลมาจากทางทิศใต้ขนานกับทางหลวงและไหลผ่านนาโจทก์ไปทางทิศตะวันตกแล้วไหลโค้งไปทางเหนือสู่ลำห้วยยาม เมื่อประมาณ16 ปีมาแล้ว โจทก์สร้างทำนบกั้นร่องน้ำกุดปลาค้าวตรงที่ต่อ (ไหลตก) ลำห้วยยามเพื่อเอาน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้น้ำในร่องน้ำกุดปลาค้าวเปลี่ยนทางเดินตอนที่อยู่ไกลทำนบโจทก์ประมาณ 2 เส้น ผ่านนาฟางโจทก์ไปทางด้านทิศตะวันออก นาฟางโจทก์ถูกน้ำซัดเซาะที่ละน้อยเป็นเวลาหลายปีจนที่นาโจทก์พังออกเป็นวงกว้าง ยาว และลึกมากออกไปทุก ๆ ปี ขณะนี้กว้างประมาณ 5ถึง 10 วา ยาวประมาณ 3 เส้น ลึกประมาณ 1 ศอกถึง 2 – 3 วา โจทก์เรียกว่านาไร่โสก มีเนื้อที่ 1 ไร่ครึ่ง โจทก์เปลี่ยนนาไร่โสกเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ และมีรายได้จากการนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 บาทโจทก์เป็นเจ้าของครอบครองนาไร่โสกนี้เพื่อตนโดยเปิดเผยติดต่อกันตลอดมานานประมาณ 16 ปีแล้ว และไม่เคยสละให้เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ประมาณต้นปีกลายนี้จำเลยทั้งสามว่านาไร่โสกของโจทก์เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านลงไปจับสัตว์น้ำและเก็บเอาพืชผลต่าง ๆ ไปเป็นของตนแทบทุกวัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่านาไร่โสกหรือที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องทรัพย์พิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 5,000 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2519 จนกว่าจะถึงปีที่จำเลยและบริวารเลิกเข้าไปเกี่ยวข้องในทรัพย์พิพาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นนาไร่โสกหาใช่นาโจทก์ไม่ แต่เป็นทางน้ำสาธารณะคือหนองโสก นายแก้ว ศิลารักษ์ ได้ซื้อนาพิพาทจากโจทก์แล้ว ได้เรี่ยไรเงินจากเจ้าของนาใกล้เคียงทำนบปิดกั้นปากน้ำห้วยกุดปลาค้าว เพื่อให้น้ำไหลลงสู่หนองโสก หนองขอนกลอง แล้วนายแก้วก็หวงห้ามมิให้ราษฎรลงจับสัตว์และเก็บพืชในหนองโสก โดยเจตนายึดถือเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 ซึ่งรักษาการแทนกำนันตำบลตาลโกนขณะนั้นได้รับคำร้องเรียนจากราษฎรจึงรายงานไปยังนายอำเภอสว่างแดนดินเมื่อเดือนเมษายน 2517 นายอำเภอสืบสวนแล้วว่าที่พิพาทเป็นทางน้ำสาธารณะโดยสภาพมีมานานจึงไม่อนุญาตให้นายแก้วยึดถือเพื่อตนเองและให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันจึงมีคำสั่งประกาศให้ประชาชนทราบ นายแก้วได้ทราบคำสั่งแล้วมิได้คัดค้านประการใด แต่ให้โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านให้ลงไปจับสัตว์น้ำและเก็บพืชผักในไร่นาโสกของโจทก์ราษฎรลงจับปลาและเก็บพืชผลโดยถือเป็นทางน้ำสาธารณะโดยธรรมชาติโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
คดีนี้คู่ความไม่สืบพยานแต่แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าร่องน้ำกุดปลาค้าวอยู่ทางทิศตะวันตกนาโจทก์ ส่วนลำห้วยยามอยู่ทางเหนือ ทั้งร่องน้ำกุดปลาค้าวและลำห้วยยามต่างก็เป็นทางน้ำสาธารณะ ร่องน้ำกุดปลาค้าวมีน้ำไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านที่พิพาทยาวประมาณ 112 วา กว้างประมาณ 10 วาเศษมีลักษณะเป็นทางน้ำธรรมชาติทะลุออกทางหนองขอนกลองและไหลเลยไปตามทางน้ำไปตกลำน้ำยาม ลำน้ำ (ห้วย) ยามยาวมากน้ำในลำห้วยไหลเลยไปลงแม่น้ำโขง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 โจทก์จำเลยและชาวบ้านช่วยกันทำทำนบปิดกั้นปากร่องน้ำกุดปลาค้าวติดกับลำห้วยยามกว้างประมาณ 8.10 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร เพื่อกั้นน้ำ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นทางน้ำสาธารณะโดยสภาพไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อทางน้ำพิพาทเกิดขึ้นโดยธรรมชาติในที่นาของโจทก์ แม้กำเนิดของทางน้ำจะอยู่นอกเขตที่นาของโจทก์ ก็ต้องเป็นของโจทก์การที่ประชาชนหลายหมู่บ้านปล่อยสัตว์พาหนะลงกินน้ำที่ทางน้ำพิพาทเช่นเดียวกับร่องน้ำกุดปลาค้าว แต่ก็ไม่ได้ความว่าประชาชนเหล่านั้นปล่อยสัตว์ลงกินน้ำมาเป็นเวลานานเท่าใด ถึงอย่างไรก็ดีกรณีเช่นนี้มิได้หมายความว่าทางน้ำพิพาทในนาของโจทก์จะกลายเป็นทางน้ำสาธารณะเพราะเหตุดังกล่าวนั้น ที่จะเป็นทางน้ำสาธารณะได้คือโจทก์อุทิศให้แก่ทางการโดยตรงหรือโดยปริยายเท่านั้นและการที่ประชาชนปล่อยสัตว์พาหนะลงกินน้ำที่ทางน้ำพิพาทยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทิศโดยปริยาย ทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นทางน้ำสาธารณะโดยสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นทางน้ำที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา พิพากษากลับเป็นว่าทางน้ำพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป