คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำเข้าฝาขวดอลูมิเนียมชนิด 1.5 และ 2.5 ออนซ์ จากบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายก่อนเกิดกรณีพิพาทได้สำแดงราคาไว้ 104.18 และ 110.80 เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา ซึ่งการประเมินราคาดังกล่าวไม่มีปัญหาระหว่างโจทก์และจำเลย จึงต้องถือว่าราคาที่สำแดงไว้ในคราวสุดท้ายก่อนเกิดกรณีพิพาทโจทก์จำเลยยอมรับว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ต่อมาโจทก์นำเข้าฝาขวดอลูมิเนียมทั้งสองขนาดดังกล่าวอันเป็นครั้งพิพาทรวม 9 ครั้ง ระยะเวลาที่นำเข้าแต่ละครั้งห่างจากที่โจทก์นำเข้าครั้งสุดท้ายประมาณ 5 ถึง 11 เดือนโดยโจทก์สำแดงราคาสินค้าเท่ากันทุกครั้ง คือ ชนิด 1.5 และ 2.5 ออนซ์ราคา 62.80 และ 78.10 เหรียญสิงคโปร์ต่อหนึ่งพันฝา ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงมากกว่าปกติ โดยไม่มีข้อเท็จจริงที่จะชี้ ให้เห็นว่าราคาที่ลดลงมานั้นเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปจากราคาเดิมกรณีจึงต้องถือว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าที่โจทก์นำเข้าในคราวที่เป็นกรณีพิพาทกันในคดีนี้มีราคาเท่ากับนำเข้าครั้งสุดท้าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำฝาขวดอลูมิเนียมใช้ปิดหรือผนึกสิ่งที่มีเครื่องหมายการค้า “แบรนด์” เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 9 ครั้งเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าและให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกครั้ง การประเมินภาษีอากรเพิ่มไม่ชอบเพราะราคาที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นเกณฑ์ในการเพิ่มราคาไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่จำเลยเห็นชอบกับการประเมินของเจ้าพนักงาน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์ ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน รวมเงินภาษีอากรที่จำเลยเรียกเพิ่มจากโจทก์468,682.82 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 625,806.60 บาท ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีอากร การเพิ่มราคมและเพิกถอนการวินิจฉัยอุทธรณ์ กับให้จำเลยคืนภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ย 525,806.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 0.625 ต่อเดือน
จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าโจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยชอบแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดคืนเงินภาษีอากรและดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ที่ กค.0613 (ก)/(4) 71,ที่ กค.0613(ก)/(4)72, ที่ กค.0613 (ก)/(4) 73, ที่ กค.0613(ก)/1-549, ที่ กค. 0613 (ก)/1-550, ที่ กค. 0613 (ก)/1-3123และ ที่ กค. 0613 (ก)/1-3124 และเพิกถอนการเพิ่มราคาตามในขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 030-41261 และเลขที่030-41262 และให้เพิกถอนการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค.0614(ก)/1659 และให้จำเลยคืนเงิน 525,806.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625ต่อเดือนโดยเศษของเดือน ให้นับเป็นหนึ่งเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่า จำเลยเคยนำเข้าฝาขวดอลูมิเนียมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีกรณีที่เป็นข้อพิพาทสินค้าชนิด 1.5 ออนซ์ โจทก์สำแดงราคาเพื่อเสียภาษีอากร 104.18 เหรียญสิงคโปร์ต่อหนึ่งพันฝา สินค้าชนิด2.5 ออนซ์ โจทก์สำแดงราคาเพื่อเสียภาษีอากร 110.80 เหรียญสิงคโปร์ต่อหนึ่งพันฝา สำหรับกรณีที่เป็นคดีพิพาท โจทก์นำเข้าฝาขวดอลูมิเนียมทั้งชนิด 1.5 ออนซ์ และ 2.5 ออนซ์ โดยนำเข้ารวม 9 ครั้งตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2529 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2530 ตามใบขนเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 34, 53, 72, 91, 111, 131, 151, 174และ 193 โดยราคาที่สำแดงไว้นั้นสินค้าชนิด 1.5 ออนซ์ ราคา 62.80เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝาและสินค้าชนิด 2.5 ออนซ์ ราคา 78.10เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา เจ้าพนักงานของจำเลยไม่พอใจราคที่โจทก์สำแดง จึงได้กำหนดราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามราคาที่โจทก์เคยนำเข้าครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีกรณีพิพาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ราคาแท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าทั้ง 9 ครั้งที่เป็นกรณีพิพาทนี้เป็นเท่าใด พิเคราะห์แล้ว สินค้าที่โจทก์นำเข้าครั้งสุดท้ายก่อนกรณีที่เป็นข้อพิพาทกับคราวที่เป็นกรณีพิพาททั้ง 9ครั้ง นั้นเป็นสินค้าประเภทเดียวกันคือฝาขวดอลูมิเนียมชนิด 1.5 และ2.5 ออนซ์ บริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศเป็นบริษัทเดียวกันคือบริษัท เอ็ม.ซี แพคเกจจิง จำกัด แห่งประเทศสิงคโปร์ ครั้งสุดท้ายที่โจทก์นำเข้านั้นปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 68 ว่า นำเข้าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2529 และมีการนำเข้าในปี 2529 หลายครั้งดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 67, 68 และ 69 ราคาที่สำแดงไว้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันคือ ราคา 104.18 เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา และราคา 110.80 เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา ซึ่งการประเมินจากราคาดังกล่าวสำหรับคราวก่อนที่จะมีกรณีพิพาทนี้ไม่มีปัญหาระหว่างโจทก์และจำเลย สำหรับสินค้าประเภทที่โจทก์นำเข้ากรณีจึงต้องถือว่าราคาที่สำแดงไว้ในคราวสุดท้ายก่อนเกิดกรณีพิพาทนั้นโจทก์จำเลยยอมรับว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์นำเข้าครั้งที่เป็นกรณีพิพาทนี้รวม 9 ครั้ง ซึ่งวันนำเข้าที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 34, 53, 72, 91, 111, 131, 151, 173 และ 193 นั้น ระยะเวลาที่นำเข้าแต่ละครั้งห่างจากที่โจทก์นำเข้าครั้งสุดท้ายตามเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 68 ประมาณ 5 เดือน, 6 เดือน, 7 เดือน, 9 เดือน,และ 11 เดือน การนำเข้าที่เป็นกรณีพิพาททั้ง 9 ครั้ง โจทก์สำแดงราคาสินค้าเท่ากันคือสินค้าชนิด 1.5 ออนซ์ ราคา 62.80 เหรียญสิงคโปร์ต่อหนึ่งพันฝา และชนิด 2.5 ออนซ์ ราคา 78.10 เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา ซึ่งราคาที่โจทก์สำแดงในคราวนำเข้าที่เป็นกรณีพิพาทนี้มีราคาที่ต่ำกว่าเดิมตามที่เคยสำแดงไว้ในการนำเข้าครั้งสุดท้ายก่อนมีกรณีพิพาท ชนิด 1.5 ออนซ์ ราคาลดลงจากเดิม 61.38 เหรียญสิงคโปร์ต่อหนึ่งพันฝา หรือลดลงประมาณร้อยละห้าสิบ ชนิด 2.5 ออนซ์ราคาลดลงจากเดิม 32.70 เหรียญสิงคโปร์ ต่อหนึ่งพันฝา หรือลดลงประมาณร้อยละยี่สิบเก้า นับว่าเป็นราคาที่ถือได้ว่าลดลงมากกว่าปกติที่ควรจะเป็นตามสภาพของตลาด โจทก์อ้างว่าเหตุที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ลดมาเป็นราคาที่โจทก์สำแดงนั้น เหตุสำคัญมาจากการที่บริษัทแม่ของโจทก์เปลี่วนวิธีการจัดซื้อใหม่ โดยวิธีการประมูลจึงทำให้ได้ต่ำลงมาจากเดิม ในเหตุข้อนี้นั้นศาลฎีกาได้พิจารณาถึงว่าสินค้าเป็นกรณีพิพาทกันนี้โจทก์และผู้ขายในต่างประเทศได้มีการติดต่อซื้อขายกันก่อนที่จะเกิดกรณีที่เป็นข้อพิพาทในการนำเข้าทั้ง 9 ครั้ง นี้เป็นเวลานานและมีการซื้อกันเกือบจะทุกเดือนทั้งก่อนการนำเข้าที่เป็นกรณีพิพาทตามที่ปรากฏในเอกสารหมายล.67, 68 และ 69 ผู้ติดต่อซื้อขายกันเป็นเวลานานอย่างนี้จึงไม่น่าที่ผู้ขายจะกำหนดราคาขายสูงเกินสมควรกว่าราคาที่ควรจะเป้น ดังนั้นราคาเดิมจึงไม่น่าจะใช่ราคาที่บวกกำไรเกินสมควรไว้และสามารถที่จะลดลงได้ถึงเกือบครึ่งของราคาเดิมเพราะดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลตามที่ควรจะเป็น อันเป็นข้อที่จะทำให้เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์หมดน้ำหนักในความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้นในชั้นที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินราคาของเจ้าพนักงานนั้นโจทก์อ้างเหตุผลที่ราคาลดลงว่าเพราะราคาของอลูมิเนียมในตลาดมีแนวโน้มลดลง จึงได้เจรจากับทางโรงงานผู้ผลิตในประเทศสิงคโปร์ทางโรงงานผู้ผลิตจึงได้ปรับปรุงราคาใหม่อันเป็นคนละเหตุกับที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและนำสืบ ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าโจทก์เปลี่ยนวิธีการซื้อโดยให้มีการประมูลกันทำให้ราคาสินค้าที่โจทก์ต้องการซื้อและเคยซื้ออยู่เดิมนั้นต้องลดลงไปตามวิธีการและการแข่งขันของผู้ขายตามสภาพของตลาดการค้าจริงแล้วโจทก์ก็น่าจะนำเหตุดังกล่าวนั้นขึ้นอ้างต่อเจ้าพนักงานของจำเลยบได้ว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดควรจะเป็นเท่าใดแต่โจทก์ก็มิได้อ้างเหตุนี้ให้เจ้าพนักงานของจำเลยผู้มีหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้ทราบกลับไปอ้างเหตุอื่น ทำให้เห็นว่าข้อกล่าวอ้างนั้นไม่มีมูลพอที่จะให้เชื่อได้ ทั้งตามคำเบิกความของนายอิทธิศักดิ์ฉวรรณกุล ที่ว่าบริษัท เอ็ม. ซี. แพคเกจจิง จำกัด เป็นผู้ประมูลได้และได้ยืนยันราคาที่เสนอขายตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 36 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวนั้นลงวันที่ 1 ตุลาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์นำเข้าสินค้าที่เป็นกรณีพิพาททั้ง 9 ครั้งนี้ ข้อนำสืบของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อเหตุผลของโจทก์ในข้อที่จะให้ฟังว่าราคาสินค้าที่โจทก์เคยนำเข้ามาลดลงไปนั้นรับฟังเอาเป็นความจริงไม่ได้แล้ว ข้อเท็จจริงที่จะชี้ให้เห็นว่าราคาที่ลดลงมานั้นเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดที่เปลียนแปลงไปจากราคาเดิมจึงไม่มี กรณีจึงต้องถือว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าที่โจทก์นำเข้าในคราวที่เป็นกรณีพิพาทกันนั้นเท่าที่จำนวนตามที่โจทก์เคยนำเข้าครั้งสุดท้ายและโจทก์จำเลยยอมรับกันไว้แล้ว เจ้าพนักบานของจำเลยประเมินเรียกเก็บอากรตามราคาที่โจทก์เคยสำแดงไว้จึงเป็นการชอบแล้วคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share