คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2585/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ผู้รับประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอ้างว่า รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกรถคันที่จำเลยรับประกันภัยไว้ชนได้รับความเสียหาย จำเลยก็ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์อันเนื่องมาจากการที่รถเกิดชนกันในเหตุครั้งเดียวกันนี้ด้วยศาลชั้นต้นพิจารณา คดีรวมกันแล้วฟังว่า เหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับรถคันที่จำเลยรับประกันภัยไว้แต่ฝ่ายเดียว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และยกฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ แม้คดีหลังนี้จะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหลังดังกล่าวนี้มีผลผูกพันคู่ความในคดีแรกที่คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีบทมาตราใดให้ศาลอุทธรณ์จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ก็มีส่วนประมาทด้วย.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10732/2526 หมายเลขแดงที่ 14251/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ เป็นโจทก์ฟ้องนายเปีย ทองชาติ ที่ 1ห้างหุ้นส่วนจำกัดเหลืองอมรเลิศ ที่ 2, นายพรชัย เหลืองอมรเลิศที่ 3, บริษัท ช.อมรพันธุ์ ที่ 4 และบริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัดที่ 5 เป็นจำเลย ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ในคดีนี้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และอนุญาตให้โจทก์ในคดีหลังถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพื่อความสะดวก ให้เรียกบริษัทร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด เป็นโจทก์ และให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีหลัง และคดีดังกล่าวต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงถึงที่สุด คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-6340 กรุงเทพมหานคร ไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเหลืองอมรเลิศ ในวงเงิน 100,000 บาท มีกำหนดอายุสัญญา 1 ปีจำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0257 สระบุรีไว้ในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ยังอยู่ในอายุสัญญาประกันภัย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2524 เวลา 8 นาฬิกาเศษนายเช้า บุญจันทร์ ซึ่งเป็นลูกจ้าง ขณะปฏิบัติหน้าที่ไปในทางการที่จ้าง หรือตามคำสั่งของบริษัทพงษ์ศักดิ์ไทย จำกัด ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0257 สระบุรี ไปตามทางขนานคู่กับถนนพหลโยธินโฉมหน้าจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดสระบุรี นายเช้าได้ขับรถด้วยความประมาทเลี้ยวขวาเพื่อแล่นขึ้นสู่ถนนพหลโยธิน โฉมหน้าเข้าตัวเมืองจังหวัดสระบุรีโดยไม่หยุดรถหรือดูแลความปลอดภัยในเส้นทางเดินรถที่นายเช้าจะขับออกไปซึ่งขณะนั้นได้มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 82-6740 กรุงเทพมหานคร ขับขี่โดยนายเปีย ทองชาติขับมาถึงที่เกิดเหตุพอดี รถยนต์คันที่นายเช้าขับขี่เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์คันที่นายเปีย ทองชาติ ขับขี่มาในระยะกระชั้นชิด นายเปียพยายามห้ามล้อและหักหลบแล้ว แต่ไม่พ้น เป็นเหตุให้รถยนต์ของนายเปียพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์คันที่นายเช้าขับขี่มา ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-6740 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายยับเยินซึ่งโจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์ดังกล่าวสิ้นค่าซ่อมแซมไป 73,530บาท ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์รับช่วงสิทธิถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 4,595 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 78,125 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7ครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 73,530 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยยกข้อต่อสู้หลายประการ
ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา คู่ความขอสละประเด็นข้อพิพาทอื่นเหลือเพียง 2 ประเด็น คือ 1. ฝ่ายใดประมาท 2. ค่าเสียหายมีเพียงใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด โจทก์ 74,030 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ครึ่งต่อปี ของต้นเงินค่าซ่อมรถ72,530 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ของต้นเงินค่ายกรถ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและพิพากษาให้ยกฟ้องบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 10732/2526 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหลังที่ฟังว่านายเช้า บุญจันทร์ เป็นฝ่ายขับขี่รถยนต์โดยประมาทฝ่ายเดียว มีผลผูกพันจำเลยในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้คดีสองสำนวนนี้จะรวมพิจารณาพิพากษา และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าเหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของนายเช้า บุญจันทร์ฝ่ายเดียว พิพากษาในคดีหลังให้ยกฟ้องโจทก์ (คือจำเลยในชั้นรวมพิจารณาพิพากษา) และคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทมาตราใดบัญญัติให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์มีผลผูกพันคู่ความในคดีที่คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีบทมาตราใดให้ศาลอุทธรณ์จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ว่านายเปีย ทองชาติ ผู้ขับขี่รถยนต์ฝ่ายโจทก์ก็มีส่วนประมาทด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยพยานหลักฐานไปตามสำนวนการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของคนขับรถฝ่ายจำเลยเพียงฝ่ายเดียวคนขับรถฝ่ายโจทก์มิได้มีส่วนประมาทด้วย โดยถือตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลัง ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่ารถฝ่ายจำเลยมิได้ ประมาทแต่เป็นเพราะรถฝ่ายโจทก์ประมาทจึงรับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ดีจำเลยฎีกาแต่เพียงว่านายเปีย ทองชาติผู้ขับขี่รถยนต์ ฝ่ายโจทก์ก็มีส่วนประมาทด้วย หาใช่นายเช้าบุญจันทร์ คนขับรถฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวไม่ จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์เสีย หรือมิฉะนั้นก็ให้ลดค่าเสียหายลงบางส่วน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก…พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามภาพถ่ายเส้นทางเดินรถคู่กรณีหมาย จ.7 และสำเนาแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ล.5 ว่าเส้นทางเดินรถของนายเปียและนายเช้าขนานกันไป โดยนายเปียขับขี่รถอยู่ในถนนพหลโยธิน ส่วนนายเช้าอยู่ในถนนคู่ขนานหรือทางสายนอกดังนั้นเมื่อนายเช้าจะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถจากถนนคู่ขนานหรือทางสายนอกเพื่อจะเข้าไปแล่นในถนนพหลโยธิน โดยมีทางแยกให้นำรถออกไปได้แล้วก็เป็นหน้าที่ของนายเช้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังว่าในช่วงที่นายเช้าจะนำรถออกไปแล่นในถนนพหลโยธินนั้นมีรถที่แล่นมาตามถนนพหลโยธินด้านขวามือของนายเช้าหรือไม่ ต่อเมื่อเห็นว่าถนนว่างหรือแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจึงจะนำรถเลี้ยวออกไปได้โจทก์มีนายจันดี ศรีโอษฐ์ เบิกความว่า พยานขับขี่รถยนต์บรรทุกสิบล้อตามหลังรถยนต์ของนายเปีย รถนายเปียกับรถนายเช้าซึ่งแล่นอยู่ที่ทางสายนอกตีคู่กันไป พอถึงหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขนายเช้าเลี้ยวขวาจากเส้นทางสายนอกเข้าสู่ถนนพหลโยธินตัดหน้ารถนายเปียนายเปียห้ามล้อรถไม่อยู่ จึงได้ชนรถนายเช้า จากคำเบิกความของพยานปากนี้ฟังได้ว่า ก่อนที่นายเช้าจะนำรถเข้าสู่ถนนพหลโยธินนายเช้าหาได้หยุดรอดูรถที่แล่นมาทางขวามือของนายเช้าไม่แต่ได้นำรถออกไปทันทีและตัดหน้ารถนายเปียโดยนายเปียไม่สามารถหยุดรถได้ทัน แสดงว่าเป็นการตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด พยานปากนี้ไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับคู่ความฝ่ายใด ถือว่าเป็นคนกลาง คำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง และได้ความว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วนายเช้าถือโอกาสหลบหนี แสดงว่านายเช้ารู้อยู่แก่ใจตนเองเป็นอย่างดีแล้วว่าตนเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายจำเลยมีนายเช้า บุญจันทร์ซึ่งเป็นคนขับรถคันที่เกิดกรณีพิพาทกับโจทก์มาเบิกความเป็นพยานถือว่าพยานมีส่วนได้เสียกับคดี คำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักน้อยที่พยานเบิกความว่าตอนพยานนำรถเลี้ยวเข้าสู่ถนนพหลโยธินรถของนายเปียยังอยู่ห่างประมาณ 200 เมตร และพยานนำรถแล่นไปได้ประมาณ40 เมตร แล้วรถนายเปียจึงมาชนนั้นไม่สมเหตุผล เพราะถ้ารถนายเปียอยู่ห่างรถพยานในระยะดังกล่าวนายเปียคงสามารถมองเห็นและสามารถชะลอรถหรือหลบเลี่ยงรถพยานได้ทัน เนื่องจากถนนพหลโยธินในช่วงที่เกิดเหตุตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.7 เป็นการเดินรถทางเดียวและไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานว่ามีสิ่งกีดขวางหรือมีเหตุคับขันอย่างใดที่เป็นอุปสรรคไม่ให้นายเปียหลบรถพยานได้ และนายเปียคงตระหนักดีว่าในการที่จะนำรถที่ตนขับขี่ไปชนท้ายรถของผู้อื่นซึ่งเป็นรถบรรทุกสิบล้อด้วยกันที่แล่นอยู่ข้างหน้านั้น นอกจากความเสียหายของรถที่ฝ่ายนายเปียจะได้รับมากกว่าแล้วโอกาสที่นายเปียจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตร่างกายย่อมมีมากอีกด้วย โดยเหตุดังได้วินิจฉัยมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายจำเลย น่าเชื่อว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของนายเช้าแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 74,030 บาท โดยกำหนดเป็นค่าซ่อมแซมรถ 72,530 บาท และค่ายกรถ 1,500 บาท นั้น เห็นว่า เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพราะโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมรถจำนวน 73,530 บาท เท่านั้น ทั้งทางพิจารณาฟังได้ว่า โจทก์จ่ายค่าซ่อมแซมรถไปจริงจำนวน 72,530 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เพียงจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 72,530 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่30 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share