แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจตนารมณ์ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 เพื่อมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 เป็นเครื่องมือยุยงส่งเสริมให้เกิดการร้าวฉานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างทำลายความเห็นใจและการประนีประนอมระหว่างกัน จึงกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนที่ลูกจ้างได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างหรือเจ็บป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แม้มีผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างของโจทก์และโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ผู้ทำละเมิดนั้นก็มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง และไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องผู้ละเมิดให้ชดใช้เงินค่าทดแทนที่โจทก์จ่ายไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินประเภทนี้เอาจากผู้ทำละเมิดนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างโดยประมาท ชนรถโจทก์เสียหาย และนายพัฒน์ โชติบุตรลูกจ้างโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้นายพัฒน์ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ เป็นเงิน ๒,๒๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓, ๔ ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงิน ๒,๒๐๐ บาทให้โจทก์
จำเลยที่ ๑, ๒, ๔ ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหาว่า ในกรณีที่นายพัฒน์ลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายในขณะปฏิบัติงานให้โจทก์โดยการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่นายพัฒน์ลูกจ้างของโจทก์ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนฯ ฉบับลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม๒๕๐๑ นั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินที่โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างของโจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจตนารมณ์ของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙เพื่อมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นเครื่องมือยุยงส่งเสริมให้เกิดความร้าวรานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำลายความเห็นใจและการประนีประนอมระหว่างกัน จึงกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนที่ลูกจ้างได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างหรือเจ็บป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นกฎหมายพิเศษใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับบุคคลภายนอกเลยไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างให้ชดใช้เงินประเภทนี้ได้ ฉะนั้น การที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าทดแทน ๒,๒๐๐ บาท ให้นายพัฒน์ลูกจ้างไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอก ทั้งนี้ เทียบได้กับกรณีที่ข้าราชการของรัฐถูกรถชนตาย รัฐต้องจ่ายบำเหน็จบำนาญไป แต่รัฐไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนนี้จากผู้ทำละเมิดได้ อีกทั้งกรณีเช่นนี้จำเลยที่ ๑ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงกฎหมายที่จะบังคับให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่มีด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน