แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการ วันที่ 21 กันยายน 2545 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกันไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ให้โจทก์ลาออกจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษาครอบครัว 3 วัน ในวันดังกล่าวจำเลยขอรถประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืนและในช่วง 3 วันดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องมาทำงาน หลังจากครบกำหนด 3 วันแล้วโจทก์ไม่ได้เข้าไปทำงานให้จำเลยอีก จำเลยจึงคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 การกระทำของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีก มิได้ให้โอกาสโจทก์ดังที่กล่าวข้างต้น พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 160,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 800,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 แล้วหรือไม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเลิกจ้างเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ย่อมไม่ได้ คดีนี้ในการประชุมกันนางธีรนาฎขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในการประชุมนั้นนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนว่าจะยอมลาออกตามความประสงค์ของนางธีรนาฎหรือไม่ ก่อนที่นางธีรนาฎจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป แต่ข้อเท็จจริงหาได้มีเพียงเท่านี้ไม่ กลับปรากฏว่าในวันดังกล่าวนั้นเองนางธีรนาฎขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน โดยในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ซึ่งหากนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนดังที่แจ้งโจทก์ในที่ประชุมกันก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนเสียตั้งแต่วันนั้น และไม่มีเหตุผลใดที่จะให้โจทก์หยุดทำงาน การกระทำของนางธีรนาฎมีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีก มิได้ให้โอกาสโจทก์ดังที่กล่าวในที่ประชุม พฤติการณ์ของนางธีรนาฎถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์แล้ว หาใช่เพิ่งเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยหรือไม่เพียงใดนั้น จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยมาให้ครบถ้วน จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี.