คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การดำเนินกิจการของมูลนิธิต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของกรรมการมูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 แต่กรรมการมูลนิธิบางคนตายคงเหลือเพียง 2 คน และไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตามมาตรา 131(3) จึงต้องเลิกมูลนิธิ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณาให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกและผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1ในสำนวนแรกและผู้ร้องในสำนวนหลังว่าผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนแรกว่าผู้ร้องที่ 2

สำนวนแรกผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องว่า สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ศาสนาอิสลาม มีทรัพย์สินคือที่ดิน เพื่อปลูกสร้างสุเหร่าสำหรับอิสลามิกชนได้ประชุมทำพิธีในกิจศาสนากำหนดให้มีกรรมการ (ผู้จัดการ) อย่างน้อย 3 คน อย่างมาก5 คน ตลอดไป ผู้ร้องที่ 1 เป็นรองประธานกรรมการสุเหร่าคลองกุ่ม มูลนิธิโดยมีนายดินมีหิรัญ เป็นประธานกรรมการและเหรัญญิก ผู้คัดค้านเป็นกรรมการและเลขานุการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2535 นายดินถึงแก่กรรมจึงมีกรรมการเหลืออยู่เพียง 2 คน ซึ่งไม่ครบจำนวนตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิ ทำให้มูลนิธิไม่สามารถดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านปรึกษาและตกลงกันที่จะแต่งตั้งให้นายมณิศ วิทยานนท์ อิหม่ามประจำมัสยิดอิสลาม (สุเหร่าคลองกุ่ม) เป็นกรรมการแทน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 ผู้ร้องที่ 1 ไปขอยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อแต่งตั้งนายมณิศเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฏว่าผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 มายื่นคำร้องต่อศาลตั้งนายมณิศ เสียก่อนจึงจะจดทะเบียนให้ได้ ขอให้มีคำสั่งตั้งนายมณิศเป็นกรรมการของสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิ

ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นสัปปุรุษของศาสนาอิสลามและเป็นผู้ประกอบกิจทางศาสนาอิสลามที่สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิ ปัจจุบันอิสลามิกชนยังใช้สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิเป็นสถานที่ทำพิธีในกิจการศาสนาอยู่ มิได้หยุดดำเนินการมาเกิน 2 ปี เมื่อกรรมการเหลือเพียง 2 คน ต้องเลือกกรรมการให้ครบ 3 คน ก่อน มิใช่กรรมการคนหนึ่งคนใดที่เหลือจะมาร้องขอให้เลิกสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิได้ และนายมณิศ วิทยานนท์ เป็นผู้นำศาสนาของสุเหร่าคลองกุ่มที่อาวุโสและดำรงอยู่ในความยุติธรรมเป็นที่เคารพนับถือในหมู่อิสลามิกชน จึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ ขอให้มีคำสั่งตั้งนายมณิศเป็นกรรมการสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องที่ 2 ทิ้งอุทธรณ์จึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าผู้ร้องที่ 2 ทิ้งอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีเฉพาะผู้ร้องที่ 2 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากนายดิน มีหิรัญ ถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านในฐานะกรรมการของสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิไม่เคยมีการประชุมเพื่อแต่งตั้งนายมณิศเป็นกรรมการรายงานการประชุมที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างเพื่อนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นรายงานที่ผู้ร้องที่ 1 ทำขึ้นฝ่ายเดียว ผู้คัดค้านจึงไปทำการคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

สำนวนหลังผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิจดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2484 มีกรรมการ 3 คน คือ นายดิน มีหิรัญ เป็นประธานกรรมการและเหรัญญิกผู้ร้องที่ 1 เป็นรองประธานกรรมการและผู้คัดค้านเป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อนายดินถึงแก่กรรมเหลือกรรมการเพียง 2 คน ทำให้สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และไม่สามารถตกลงกันได้ในกิจการต่าง ๆ ของมูลนิธิมานานเกิน2 ปีแล้ว ขอให้มีคำสั่งให้เลิกสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิ

ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่การศาสนาอิสลามโดยอุทิศทรัพย์สินเป็นที่ดินให้ปลูกสร้างสุเหร่าสำหรับอิสลามิกชนได้ประชุมทำพิธีในกิจการศาสนาโดยไม่คิดมูลค่า ปัจจุบันมูลนิธิยังคงดำเนินกิจการทางศาสนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และมีคำสั่งให้เลิกสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิ

ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า เมื่อนายดินถึงแก่กรรมแล้ว กรรมการที่เหลือคือผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านได้เสนอให้แต่งตั้งนายมณิศ วิทยานนท์ เป็นกรรมการแทนตามเอกสารหมาย ร.13 ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ก็เห็นชอบด้วย สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ข้อนี้ผู้ร้องที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2535 นายดินถึงแก่กรรม ตามข้อบังคับตราสารจัดตั้งมูลนิธิเอกสารหมาย ร.1 กำหนดว่า ให้กรรมการที่เหลืออยู่แต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทน ซึ่งกรรมการที่เหลืออยู่คือผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านได้เสนอแต่งตั้งนายมณิศอิหม่ามประจำมัสยิดอิสลามเป็นกรรมการแทน ตามเอกสารหมาย ร.13 ผู้คัดค้านได้คัดค้าน ตามเอกสารหมาย ร.15 และเสนอว่าให้แต่งตั้งกรรมการเพิ่มอีก 2 คน นอกจากนายมณิศรวมเป็นกรรมการเพิ่มเติม 3คน ตามเอกสารหมาย ร.17 และผู้คัดค้านเบิกความเป็นพยานว่า ได้เสนอหนังสือตามเอกสารหมาย ร.13 ให้นายมณิศ แต่นายมณิศไม่ยอมรับเงื่อนไข เหตุที่คัดค้านนายมณิศเป็นประธานมูลนิธิ เพราะนายมณิศไม่วางตัวเป็นกลางและเบิกความตอบทนายผู้ร้องที่ 1ถามค้านว่า ไม่คัดค้านที่จะให้นายมณิศเป็นกรรมการมูลนิธิ ปรากฏว่า ตามเอกสารหมาย ร.13 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…ทางพวกเราเห็นว่าประธานสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือท่านอิหม่าม เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือแต่ทางพวกเราได้เล็งเห็นว่า งานของสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิควรจะมีกิจกรรมให้มากขึ้น ฯลฯ อันควรจะแก้ตราสารของสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิให้มีอายุการทำงาน 4 ปี และให้คณะกรรมการมัสยิดอิสลามทั้งหมดเป็นกรรมการสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิด้วย เพื่อจะได้ทำงานไปในแนวทางเดียวกัน…” เห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวข้างต้น ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอแต่งตั้งนายมณิศเป็นกรรมการแทนเพียงอย่างเดียว แต่ได้เสนอให้แก้ตราสารของมูลนิธิด้วยและตามคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านก็รับว่าผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกใครเป็นกรรมการแทนนายดิน เมื่อการดำเนินกิจการของมูลนิธิจะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 แต่สุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิมีกรรมการเหลือเพียง 2 คน และไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 131(3) ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้เลิกสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิจึงชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อสุเหร่าคลองกุ่มมูลนิธิต้องเลิกไปแล้ว ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ข้อที่ว่า ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนายมณิศ วิทยานนท์ เป็นกรรมการหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่เป็นสาระแก่คดี”

พิพากษายืน

Share