แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 1 เดือน จำเลยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่น วันเกิดเหตุตำรวจออกตรวจท้องที่เห็นจำเลยกับพวกอยู่บนบ้านหลังหนึ่งในสวนยาง ตำรวจเข้าไปในระยะห่าง 1 เส้นร้องตะโกนว่า อย่าหนี นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยกระโดดหนีลงทางหลังบ้านแล้วใช้ปืนยิงขู่ตำรวจและหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยดังนี้ ได้ชื่อว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่แล้ว เพราะตำรวจเหล่านี้มีอำนาจจับกุมจำเลยได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(3)ทั้งตามพฤติการณ์เช่นนี้ตำรวจเหล่านั้นอาจจับจำเลยได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นไปค้นบนบ้านอันเป็นที่รโหฐานแต่ประการใดด้วย
การพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษนั้น ในคำพิพากษาศาลต้องยกบทมาตราแห่งกฎหมายขึ้นปรับด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186
เมื่อการกระทำของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา140 แล้วก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 138 อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า สิบตำรวจเอกสงวน อินทรสกุล กับพวก เข้าทำการจับกุมจำเลยกับพวกในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และกรรโชก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางสิบตำรวจเอกสงวน อินทรสกุล กับพวก เพื่อมิให้ถูกจับกุม โดยจำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจเอกสงวน อินทรสกุล กับพวกโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนที่จำเลยกับพวกยิงไม่ถูกสิบตำรวจเอกสงวน อินทรสกุล กับพวก และจำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองยาว 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซอง 15 นัด ซึ่งอาจใช้ยิงได้ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายของนายทะเบียน เจ้าพนักงานยึดมาเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289, 80, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เพราะเป็นการยิงขู่เพื่อให้พ้นจากการจับกุม ส่วนอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางซึ่งเก็บได้ในบริเวณที่เกิดเหตุสันนิษฐานได้ว่าเป็นอาวุธปืนที่พวกจำเลยใช้ยิงเจ้าพนักงาน จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนดคนละ 2 ปี และมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุกจำเลยอีกคนละ6 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานให้ยกเสีย ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานด้วย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลย เพราะจำเลยกับพวกได้กระทำผิดในคดีอื่น ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีหมายจับ ทั้งจำเลยอยู่บนเรือนหลังหนึ่ง จึงเป็นการจับในที่รโหฐานจำต้องมีหมายค้น จ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกจึงไม่มีอำนาจจับกุมจำเลย และไม่เป็นการกระทำตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยยิงปืนมาทางจ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกโดยเจตนาฆ่า อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางจะสันนิษฐานว่าเป็นของจำเลยไม่ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ส่วนของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน จำเลยทั้งสามกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่านายมาโซ ปะแซ ในวันเกิดเหตุ จ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกตำรวจอีก 4 นายออกตรวจท้องที่เดินผ่านสวนยางซึ่งมีบ้านหลังหนึ่งปลูกอยู่ เห็นคนพลุกพล่านที่บ้านหลังนั้น จ่าสิบตำรวจทองแก้วจึงตรงไปที่หน้าบ้าน เข้าไปในระยะห่าง 1 เส้น เห็นจำเลยทั้งสามกับพวกอีกคนหนึ่งอยู่บนบ้าน จ่าสิบตำรวจทองแก้วตะโกนบอกไปว่า อย่าหนี นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยทั้งสามต่างกระโดดหนีลงทางหลังบ้าน แล้วใช้ปืนยิงก่อน ตำรวจยิงโต้ตอบไปพวกจำเลยหนีเข้าสวนยางต่างฝ่ายต่างยิงไม่ถูกใคร หลังจากพวกจำเลยหนีไปแล้ว จ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกตรวจพบปืนลูกซอง 1 กระบอก กระสุนปืน 15 นัดอยู่ในเข็มขัดใส่กระสุน ไฟฉาย 1 กระบอก ผ้าปลาสติก 1 ผืน และปลอกกระสุน 3 ปลอกตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุห่างชานเรือนหลังบ้านประมาณ 5 เมตร จึงยึดไว้เป็นของกลาง ต่อมาภายหลังจำเลยเข้ามอบตัว
วินิจฉัยว่า การที่จ่าสิบตำรวจทองแก้วแสดงตัวเป็นตำรวจก็เพื่อให้จำเลยกับพวกยอมให้จับกุมแต่โดยดี ประกอบทั้งจ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกมีอำนาจจับกุมได้ ตามข้อยกเว้นตามมาตรา 78(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับพวกจำเลยเป็นคนร้ายที่ต้องหาว่าฆ่าผู้อื่น เมื่อรู้ว่าจะถูกจับกุมโดยบังเอิญต่างก็แสดงอาการพิรุธหลบหนีทันที แล้วใช้ปืนยิงก่อน ย่อมได้ชื่อว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว กรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นที่จ่าสิบตำรวจสงวนกับพวกจะต้องขึ้นไปค้นบนบ้านอันเป็นที่รโหฐาน เพราะการจับกุมพวกจำเลยอาจกระทำได้ภายหลังพวกจำเลยกระโดดลงจากบ้านแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้นั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ ส่วนข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น พฤติการณ์มีเหตุบ่งชัดว่าของกลางมิใช่เป็นของผู้อื่น แต่เป็นของพวกจำเลยทิ้งไว้ แต่ที่ศาลชั้นต้นมิได้ยกบทมาตราแห่งกฎหมายขึ้นปรับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 นั้น ไม่ชอบ และข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น เมื่อการกระทำผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 138 อีกด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 นอกจากที่แก้นี้คงให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น