คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2530/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกอีก 4 คน ไม่มีอาวุธ กลุ้มรุมชกต่อยผู้เสียหาย มีแต่เพียงเจตนาทำร้าย การแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายแล้วยิงผู้เสียหายจนตาบอดทั้ง 2 ข้าง เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในตอนหลังของจำเลยเพียงผู้เดียวโดยเจตนาจะแย่งอาวุธปืนเพื่อใช้ยิงผู้เสียหายโดยมี เจตนาฆ่า เป็นการกระทำโดยเจตนาลักเอาอาวุธปืน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐาน พยายามฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7),80 และ ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 340 วรรคสาม แต่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม มาตรา 288,80 และฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่น ได้รับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 339 วรรคสี่ ปัญหานี้เกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาขึ้นมาโดยตรง ศาลฎีกา ก็แก้ไขให้ ถูกต้องได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 289, 83, 80 ลงโทษตาม มาตรา 289, 83, 80 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524 เวลาประมาณ 22 นาฬิกาซึ่งเป็นวันเวลาเกิดเหตุ ได้มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งจำนวน 6 คนร่วมกันกลุ้มรุมชกต่อยทำร้ายจ่าสิบตำรวจเสมอ สดแสงสุก ผู้เสียหาย แล้วคนร้าย คนหนึ่งในจำนวน 6 คนนั้นได้แย่งอาวุธปืนลูกซองสั้นที่ผู้เสียหายเหน็บอยู่ที่เอวด้านซ้ายไป และในทันใดนั้นคนร้ายคนนี้ได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกที่มือและนัยน์ตาซ้ายของผู้เสียหาย ปรากฏบาดแผลตามรายงานการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงทุพพลภาพตาบอดทั้ง 2 ข้าง เหตุเกิดที่ร้านอาหารสุโพธิ์ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยเอกชัย 1 แขวงและเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยใช่คนร้ายที่แย่งเอาอาวุธปืนลูกซองสั้นของผู้เสียหายไป และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มีประจักษ์พยานมาสืบ 2 ปาก คือผู้เสียหายและนายเชน ภู่อารีย์ ซึ่งไปรับประทานอาหารที่ร้านเกิดเหตุร่วมกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า ในกลุ่มคนร้ายทั้ง 6 คนนั้นผู้เสียหายรู้จัก 2 คน คือนายใหญ่และนายยุทธ เพราะเคยเห็นที่ซอยที่เกิดเหตุบ่อย ๆ แต่ไม่สนิทกัน นายใหญ่เป็นคนร้ายที่ฉุดเอาผู้เสียหายออกไปนอกร้าน แล้วต่อยผู้เสียหาย แล้วคนร้ายอีก 4 คนได้ร่วมกับนายใหญ่ชกต่อยผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายกำลังปิดป้องอยู่ นายยุทธได้ดึงเอาอาวุธปืนไปจากเอวด้านซ้ายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายหันไปแย่งนายยุทธได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่มือและนัยน์ตาข้างซ้าย ผู้เสียหายล้มลงสลบไป แต่ในชั้นพิจารณาเมื่อผู้เสียหายเบิกความต่อศาลนั้น ผู้เสียหายไม่สามารถยืนยันได้ว่านายยุทธที่เบิกความถึงจะเป็นบุคคลคนเดียวกับนายยุทธิชัยจำเลยหรือไม่ เพราะมองไม่เห็น ส่วนนายเชน ภู่อารีย์ เบิกความได้ไปร่วมรับประทานอาหารกับผู้เสียหายในวันเกิดเหตุจนถึงเวลา 22 นาฬิกาตนได้ลุกจากโต๊ะอาหารเข้าไปปัสสาวะที่ห้องน้ำหลังร้านอาหาร พอกลับออกมาก็เห็นนายใหญ่ที่ตนรู้จักซึ่งมานั่งรับประทานอาหารกับพวกวัยรุ่นอีก 4-5 คนอยู่ทีโต๊ะ หลังโต๊ะอาหารของผู้เสียหายเข้าไปทางด้านหลัง กำลังฉุดมือผู้เสียหายออกไปหน้าร้าน โดยมีนายยุทธิชัยจำเลยซึ่งทราบชื่อภายหลังกับพวกอีก 3-4 คนรุมล้อมออกไป พอไปพ้นร้านได้เห็นนายใหญ่ชกต่อยผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับพวกรุมชกต่อยผู้เสียหายด้วย ทันใดนั้นจำเลยได้ชักเอาอาวุธปืนซึ่งผู้เสียหายเหน็บอยู่ที่เอวด้านซ้ายยิงไปที่ใบหน้าของผู้เสียหาย 1 นัด ผู้เสียหายล้มลง ตนจำคนร้ายที่ทำร้ายผู้เสียหายได้4 คนคือนายใหญ่จำเลยและคนร้ายที่หลบหนี เพราะขณะเกิดเหตุไฟฟ้าในร้านและหน้าร้านที่เกิดเหตุเป็นไฟนีออน ส่องสว่างมองเห็นกันได้ชัดเจนซึ่งในเรื่องแสงสว่างนี้ผู้เสียหายและนางกลม ภาคสุโพธิ์เจ้าของร้านที่เกิดเหตุก็เบิกความทำนองเดียวกับนายเชนพยานโจทก์ นางกาญจนา สดแสงสุก และร้อยตำรวจโทคมสัน โยธคล พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า รุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุผู้เสียหายได้แจ้งให้ทราบว่าคนร้ายที่ยิงผู้เสียหายชื่อนายยุทธ ครั้นถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2525 ภายหลังเกิดเหตุถึง 1 เดือนเศษ ซึ่งเป็นวันจับกุมจำเลยได้ นายเชน ภู่อารีย์ ร้อยตำรวจตรีกอบกิจ จิตต์การุณราษฎร์ ตำรวจผู้จับกุมจำเลยตามบันทึกการจับกุมหมาย จ.2 และร้อยตำรวจโทคมสัน โยธคล ก็เบิกความว่า นายเชนได้พบจำเลยในซอยร่วมมิตรซึ่งผู้เสียหายและนายเชนมีภูมิลำเนาอยู่ นายเชนจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงได้ไปสถานีตำรวจแจ้งให้ร้อยตำรวจตรีกอบกิจกับพวกมาทำการจับกุมจำเลยไว้ได้ ที่จำเลยฎีกาว่านายเชน ภู่อารีย์ กับนางกลม ภาคสุโพธิ์ เจ้าของร้านอาหารที่เกิดเหตุเบิกความขัดกันในข้อที่ว่าในขณะเกิดเหตุนั้น นายเชนซึ่งเข้าไปปัสสาวะที่ห้องน้ำหลังร้านกับนางกลมซึ่งเข้าไปเก็บของอยู่หลังร้าน แต่บุคคลทั้งสองกลับเบิกความว่าต่างไม่เห็นกันนั้น นอกจากนางกลมจะเบิกความตอบคำถามติงว่า น้องชายของตนซึ่งอาบน้ำอยู่ในขณะที่ตนเข้าไปหลังร้านจะอาบน้ำเสร็จเมื่อใด ใครจะเข้าออกห้องน้ำอีกอย่างไรก็ไม่ทราบแล้ว ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าบริเวณหลังร้านที่เกิดเหตุซึ่งนางกลมไปเก็บของกับห้องน้ำอยู่ที่เดียวกันหรือใกล้ชิดกันอย่างไร กรณียังถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองถึงขนาดขัดแย้งกันดังที่จำเลยฎีกาส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความว่านายยุทธยิงผู้เสียหายหันหน้าออกถนน ส่วนนายยุทธหันหน้าเข้าในร้าน แต่นายเชนเบิกความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายต่างหันหน้าเข้าร้านนั้น แม้ผู้เสียหายกับนายเชนจะเบิกความแตกต่างกันในเรื่องที่ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยืนหันหน้าไปทางไหนแน่ ข้อแตกต่างดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันถึงขนาดที่จะมีผลให้คำของนายเชนไม่น่าเชื่อดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมาไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์สอดคล้องรับกันมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่แย่งเอาอาวุธปืนลูกซองสั้นของผู้เสียหายและเป็นผู้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายจริงตามที่โจทก์ฟ้อง อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงที่อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงตรงใบหน้าผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในระยะกระชั้นชิดห่างกันเพียงประมาณ 1 ฟุต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกหลบหนีอาวุธปืนของผู้เสียหายก็หายไปหาไม่พบในที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้เพียงว่าในเบื้องต้นนายใหญ่และจำเลยกับพวกอีก 4 คนต่างไม่มีอาวุธอะไร ได้ร่วมกันกลุ้มรุมชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และในขณะนั้นเองจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้แย่งเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปแล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายถึงตาบอดทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาตัวอยู่ประมาณถึง3 เดือน บาดแผลจึงหาย แต่ผู้เสียหายก็ไม่สามารถมองเห็นได้จนถึงขณะเบิกความต่อศาล ซึ่งพันตำรวจเอกอาภรณ์ รัชตะประกร แพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลผู้เสียหายเบิกความว่าตาของผู้เสียหายพิการมองไม่เห็นตลอดไป กรณีจึงฟังได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ศาลฎีกาเห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวเห็นได้ว่าในเบื้องต้นนั้นนายใหญ่และจำเลยกับพวกอีก 4 คน มีแต่เพียงเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหาได้มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ กล่าวคือจะเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไม่ การแย่งเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายนั้น เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในตอนหลังของจำเลยเพียงผู้เดียว ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาจะแย่งเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปเพื่อใช้ยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยในตอนหลังนี้จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาลักเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย กล่าวคือใช้อาวุธปืนนั้นประทุษร้ายผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าสืบเนื่องติดต่อกันไปในวาระเดียวกัน จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้กระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การปล้นทรัพย์เพื่อปกปิดความผิดของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานปล้นทรัพย์ และจำเลยมิได้ร่วมกับพวกตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำการชิงทรัพย์เอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7)และความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย การกระทำของจำเลยคงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสอีกสถานหนึ่งเท่านั้นปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงศาลฎีกาก็เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์”

Share