แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายบุญมาก มั่งคั่ง.(ลูกจ้างขับรถของโจทก์ที่ 1 ซึ่งถึงแก่ความตายในอุบัติเหตุครั้งนี้)โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะขาดอุปการะจากจำเลย ในฟ้องแย้งของจำเลยก็ไม่ได้แสดงว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรที่จะเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 2 ทั้งในคำขอก็ไม่ได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้โจทก์ที่ 1 หรือที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่ตนจึงต้องถือว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายบุญมาก มั่งคั่ง ใช้ค่าเสียหายแก่ตนเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2522 ลูกจ้างขับรถของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจากกรุงเทพมหานครในทางการที่จ้างของจำเลยไปอำเภอหาดใหญ่โดยขับรถด้วยความเร็วสูงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังขณะฝนตก ถนนลื่น พอขับมาถึงที่เกิดเหตุได้ขับวิ่งเข้ามาชนรถที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อโดยนายบุญมาก มั่งคั่งเป็นคนขับสวนทางมา ผลการชนเป็นเหตุให้รถของโจทก์ที่ 1 เสียหายยับเยิน นายบุญมากถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 2 เป็นภรรยานายบุญมากมีบุตรด้วยกัน 3 คน ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถหมายเลขทะเบียนพ.บ.08717 โจทก์ที่ 2 มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายบุญมาก จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูของตนเองและของบุตร เหตุที่รถชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของนายบุญมากค่าสินไหมทดแทนสูงเกินส่วน ผลของการชนครั้งนี้ทำให้รถจำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนให้จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่าเหตุเกิดจากความประมาทของลูกจ้างจำเลย ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง แต่มีคำขอให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ผู้เดียว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องแย้ง และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1
จำเลยฎีกาทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายบุญมากคนขับรถโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทและวินิจฉัยในเรื่องผู้ที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ที่ 2ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายบุญมาก มั่งคั่ง โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะขาดอุปการะจากจำเลย ในฟ้องแย้งของจำเลยก็ไม่ได้แสดงว่าตนมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรที่จะเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 2 ทั้งในคำขอก็ไม่ได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่า จำเลยประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 หรือที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่ตน จึงต้องถือว่าจำเลยประสงค์จะให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายบุญมาก มั่งคั่ง ใช้ค่าเสียหายแก่ตนเท่านั้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 (แต่ผู้เดียว) ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย