คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บัญญัติว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนให้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
ตัวการมอบอำนาจโดยมิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือให้ตัวแทนไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ในชั้นพิจารณาตัวการจะได้มาเบิกความว่าให้สัตยาบันรับรองการทำสัญญาดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าตัวการปฏิเสธความรับผิดตลอดมา จึงถือไม่ได้ว่าตัวการได้ให้สัตยาบันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว
จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถของโจทก์โดยประมาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้มอบอำนาจ โดยมิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 3 ไปเจรจาตกลงค่าเสียหายกับโจทก์และบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วมาเบิกความต่อศาลว่าให้สัตยาบันรับรองการทำสัญญา แม้จะฟังว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแต่การมอบอำนาจไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบัน ย่อมไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความมีผล ความรับผิดในมูลละเมิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างยังไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงยังมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์เบ็นซ์หมายเลข กท.ศ 6023 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลข กท.บ 5469 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาทคือขับด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถของโจทก์ขณะจอดรอสัญญาณไฟ รถของโจทก์เสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน 14,753 บาท ไม่มีรถใช้ต้องเสียค่าแท็กซี่ 6,000 บาทค่าเสื่อมสภาพ 20,000 บาท รวม 40,753 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของรถที่ถูกชน จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 3เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถที่ถูกชน ค่าเสียหายเรียกมากเกินไป ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมูลละเมิดได้ระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาเรื่องอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังเอกสารหมาย จ.3 โดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากรถของจำเลยที่ 2 ได้ชนรถของโจทก์ได้รับความเสียหายก็ดี แต่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอก มิได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือให้เป็นตัวแทนจากจำเลยที่ 2 เพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.3 กับโจทก์ เพราะการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บัญญัติว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนให้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย และฎีกาที่ว่าจำเลยที่ 2 ได้มาเบิกความให้สัตยาบันรับรองการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 แล้วนั้น การเบิกความดังกล่าวก็เพียงเพื่อจะใช้เอกสารหมาย จ.3 ต่อสู้คดีนี้เท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ซ่อมรถเสร็จได้ทวงถามค่าซ่อมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธความรับผิดตลอดมา พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันการทำสัญญาหมาย จ.3 แล้ว ความรับผิดในมูลละเมิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ระงับสิ้นไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share