แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการยืนฟ้องคดีเด็กหรือเยาวชนไม่ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุม พนักงานสอบสวนจึงยืนคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องไว้ถึง 3 คราว โดยเฉพาะคราวที่ 3 ศาลอนุญาตให้ผิดฟ้องได้จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2521 แต่พนักงานสอบสวนขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 อ้างว่าพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ได้ขอผัดฟ้องคดีอีกต่อไป จนวันที่ 3 เมษายน 2521 พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องผู้ต้องหาเช่นนี้ ถือว่าพ้นระยะเวลายื่นฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ แล้ว โจทก์ยื่นฟ้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 จัตวาไม่ได้
ไม่ว่ากรณีพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 24 ทวิทั้งสิ้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนว่าลักทรัพย์หรือรับของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางสั่งไม่รับฟ้อง เพราะฟ้องเมื่อพ้นเวลาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน มาตรา ๒๔ จัตวา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางขอผัดฟ้องผู้ต้องหาไว้รวม ๓ คราว โดยเฉพาะคำร้องขอผัดฟ้องคราวที่ ๓ นั้น ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางไต่สวนแล้วอนุญาตให้ผัดฟ้องได้จนถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๑ ครั้นวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๑ พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปอ้างว่าพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเนื่องจากคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปได้ในวันนั้น ต่อจากนั้นไม่มีการขอผัดฟ้องผู้ต้องหาอีก จนกระทั่งวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๑ พนักงานอัยการโจทก์จึงยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยในคดีนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๒๔ จัดว่าแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ มาตรา ๘ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ”
มาตรา ๒๔ ทวิ แหง่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ แก้ไชเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ มาตรา ๘ ได้กำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีเด็กและเยาวชนไว้ดังนี้คือ เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนให้ทันภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับ ในกรณีที่เกิดจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องต่อไปอีกคราวละไม่เกิน ๑๕ วัน แต่ต้องไม่เกิน ๒ คราว เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบ ๒ คราวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยังมีสิทธิขอผัดฟ้องต่อไปได้อีก ถ้ามีเหตุจำเป็นโดยนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลและมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกิน ๑๕ วันแต่ต้องไม่เกิน ๒ คราว เว้นแต่คดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไปหรือโดยสถานที่หนักกว่านั้นศาลจะสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องกี่คราวก็ได้
ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏว่าพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีไม่ทันภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุม พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องไว้ถึง ๓ คราว โดยเฉพาะคราวที่ ๓ นั้นศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องได้จนถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๑ แต่พนักงานสอบสวนขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๑ อ้างว่าพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเนื่องจากคดีมีหลักฐานไม่พอฟ้อง ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ขอผัดฟ้องคดีนี้ต่อไปอีก เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ก็ต้องถือว่าคดีนี้พ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวินั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่ามาตรา ๒๔ ทวิใช้บังคับเฉพาะกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา กรณึจึงนำมาตรา ๒๔ ทวิ มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับนั้น เห็นว่าไม่ว่ากรณีพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ก็ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๒๔ ทวิทั้งสิ้น จะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ เมื่อฟังว่าพ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวินั้นแล้ว โจทก์มายื่นฟ้องคดีนี้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ จัตวาดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการนั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน.