คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันรังวัดสอบเขตผิดไปจากแนวเขตที่ดินและทางเกวียนเดิมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ที่ 1, 2 ซื้อจากโจทก์ที่ 3 และการรังวัดนั้นได้กระทำมาก่อนตั้งแต่ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 ตามคำฟ้องและคำเบิกความพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องพอที่จะเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหายและอาจถูกโจทก์ที่ 1, 2 ฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิ์ไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 1, 2 แพ้คดี ประกอบกับรูปคดีกรณีโจทก์ที่ 3 นี้ ถึงแม้จะไม่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย โจทก์ที่ 1, 2 ก็ยังขอให้ศาลหมายเรียกเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมได้ โจทก์ที่ 3 จึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีแล้ว ควรรับฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไว้พิจารณาต่อไป ฉะนั้น การที่ก่อนพ้นเวลา 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นกลับสั่งว่าโจทก์ที่ 3 ไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์ที่ 3 และให้นัดสืบพยานโจทก์ไป ดังนี้ เป็นการตัดสิทธิ์บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 3 สมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ทั้งคดีส่วนแพ่งและอาญา แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 3 ได้ถึงแก่กรรมจนถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้น ในการที่จะกำหนดเวลาปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ว่าด้วยการเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 3 ผู้มรณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑, ๒ เป็นเจ้าพนักงานร่วมกับจำเลยอื่นทำการรังวัดสอบเขตผิดไปจากแนวเขตที่ดินและทางเกวียนเดิม แล้วเปลี่ยนแผนที่หลังโฉนดของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื้อที่ดินขาดหายไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๑, ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๑ และพิพากษาว่าที่ดินซึ่งจำเลยนำชี้ทับที่ดินโจทก์จำนวน ๗ ไร่ ตามฟ้องเป็นของโจทก์ เพิกถอนการรังวัดและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินของนางย้วง และทำให้ทางเกวียนอยู่ในแนวเดิม หากสุดวิสัยจะทำได้ ขอให้ร่วมกันใช้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีของโจทก์มีมูลทุกข้อห้า จึงสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยที่ ๑, ๒, ๓, ๕ ให้การปฏิเสธ
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๔ ศาลอนุญาต
ต่อมาทนายโจทก์แถลงว่า โจทก์ที่ ๓ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นสั่งงดการดำเนินคดี เมื่อมีผู้รับมรดกความแล้วจึงให้ดำเนินการต่อไป เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ทนายโจทก์ขอให้เลื่อนคดีไปจนครบ ๑ ปีนับแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ ๓ ถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยยอมรับว่าโจทก์ที่ ๓ ตายจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้เนิ่นช้ามาเป็นเวลา ๒ ปีเศษ โดยมิได้สืบพยานเลย เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑, ๒ ซื้อที่ดินพิพาทตามโฉนดจากโจทก์ที่ ๓ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยโจทก์ที่ ๓ ก็มิได้บอกแก่โจทก์ที่ ๑, ๒ ว่าเนื้อที่ดินซึ่งซื้อขายกันมีมากกว่าที่ปรากฏในโฉนด และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๓ จึงไม่มีส่วนได้เสียในคดีที่โจทก์ที่ ๑, ๒ พิพาทกับจำเลย จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องโจทก์ที่ ๓ ในคดีนี้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ และให้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘
โจทก์ที่ ๑, ๒ อุทธรณ์คำสั่ง
ครั้นวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ได้เซ็นทราบนัดไว้แล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่มาศาล พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เจตนาให้การดำเนินการพิจารณาล่าช้า ถึงแม้ว่าจะมีอุทธรณ์คำสั่งของศาลก็ตาม โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องมาศาลเพื่อสืบพยานโจทก์ต่อไปตามเดิม การที่โจทก์เพิกเฉย แสดงว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ จำเลยแถลงขอสืบพยานจำเลย แต่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๑๘ โจทก์ที่ ๑, ๒ อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ศาลสั่งเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๘ ว่า “ให้รับอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ส่วนคดีอาญาขาดอายุอุทธรณ์แล้ว สำเนาให้จำเลย แจ้งคำสั่งของศาลให้โจทก์ทราบโดยเร็ว”
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๑๘ โจทก์ที่ ๑, ๒ อุทธรณ์คำสั่งที่สั่งไม่รับอุทธรณ์คดีส่วนอาญา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองฉบับ คดีส่วนแพ่งให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ที่ ๑, ๒ ฎีกาว่า การพิจารณาพิพากษาไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งไปตามกฎหมายแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ และ ๕ ฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อควรพิเคราะห์ก่อนว่า โจทก์ที่ ๓ มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยเรื่องอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๑, ๒ กล่าวฟ้องว่าจำเลยทำการรังวัดสอบเขตผิดไปจากแนวเขตที่ดินและทางเกวียนเดิมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ซื้อมาจากโจทก์ที่ ๓ เป็นเนื้อที่ ๗ ไร่ และการรังวัดนั้นได้กระทำกันมาก่อนตั้งแต่ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๓ ดังนี้ ตามคำฟ้องและคำเบิกความพยานโจทก์พอที่จะเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ ๓ ได้รับความเสียหายและอาจถูกโจทก์ที่ ๑, ๒ ฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิ์ไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑, ๒ แพ้คดี ประกอบกับรูปคดีกรณีโจทก์ที่ ๓ นี้ ถึงแม้จะไม่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องด้วย โจทก์ที่ ๑, ๒ ก็ยังขอให้ศาลหมายเรียกเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า โจทก์ที่ ๓ มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีแล้ว เห็นควรรับฟ้องโจทก์ที่ ๓ ไว้พิจารณาต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์ที่ ๓ เสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เนื่องจากคดีนี้โจทก์ที่ ๓ ถึงแก่กรรม กฎหมายบัญญัติให้ทายาทหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ ๓ เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่๓ เพื่อให้โอกาสบุคคลดังกล่าวกฎหมายจึงบัญญัติเรื่องระยะเวลาไว้ให้ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่โจทก์ที่ ๓ ถึงแก่กรรม แต่เรื่องนี้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนโดยไม่รอระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการตัดสิทธิ์ทายาทของโจทก์ที่ ๓ หรือผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ ๓ ไม่ชอบด้วยการพิจารณาความ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ทั้งคดีส่วนแพ่งและส่วนอาญา แต่เนื่องจากโจทก์ที่ ๓ ได้ถึงแก่กรรมจนถึงวันพิพากษานี้เกินกว่า ๑ ปีแล้ว จึงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการที่จะกำหนดเวลาปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒ ว่าด้วยการเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ ๓ ผู้มรณะ เมื่อรูปคดีฟังได้เช่นนี้ ปัญหาอื่นตามข้อฎีกาของคู่ความจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องโจทก์ที่ ๓ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share