คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 69 ที่กำหนดว่าสิ่งของที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำผิด ศาลจะริบเสียก็ได้ เป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะเรือของกลางที่ศาลชั้นต้นให้ริบเป็นไม่ริบก็เป็นการใช้ดุลพินิจและเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตา โดยมิได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยโจทก์แนบประกาศกระทรวงดังกล่าวมาท้ายฟ้องด้วย ประกาศที่แนบมาท้ายฟ้องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ซึ่งตามประกาศดังกล่าว ยกเว้นให้ใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตาที่มีขนาดตาอวน 47 มิลลิเมตร(4.7 เซนติเมตร) หรือโตกว่า และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงไว้ชัดเจนแล้วรับฟังได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงขนาดตาอวนของกลางที่มีขนาดเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 32(1)(2)และ (5) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามโดยเด็ดขาด มิให้บุคคลใดใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตาทำการจับปลาทูในอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 14กรกฎาคม ทุกปี ประกาศดังกล่าวได้ปิดประกาศไว้แล้ว ปรากฏตามสำเนาประกาศท้ายฟ้อง จำเลยทั้งแปดได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตามีสายพาน 1 ปาก ใช้กับเรือยนต์ 1 ลำทำการประมงจับปลาทูโดยมิได้รับยกเว้นให้กระทำได้ ตามประกาศดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. 2490 มาตรา 5, 32, 69, 70 พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2496 มาตรา 10 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 105 (พ.ศ. 2515)ข้อ 5 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ริบของกลาง

จำเลยทั้งแปดให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุกคนละ 6 เดือนปรับคนละ 800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุกคนละ3 เดือน ปรับคนละ 400 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ภายใน 2 ปี ของกลางริบ

จำเลยทั้งแปดอุทธรณ์ขอไม่ให้ริบอวนและเรือของกลาง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบเรือของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ริบเรือของกลาง

จำเลยทั้งแปดฎีกาขอให้สั่งคืนอวนของกลาง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบเรือของกลางนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 69 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 105 ข้อ 5 ที่กำหนดว่าสิ่งของที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำผิด ศาลจะริบเสียก็ได้ เป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เฉพาะเรือของกลางที่ศาลชั้นต้นให้ริบเป็นไม่ริบ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในปัญหานี้ตามข้อฎีกาของโจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า อวนของกลางมีตาอวนเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตา โดยมิได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยโจทก์แนบประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดฤดูปลาทูมีไข่และห้ามมิให้ใช้เครื่องมือบางชนิดจับปลาทู และกำหนดขนาดตาของเครื่องมือบางชนิดในฤดูมีปลาทูขนาดเล็กมาท้ายฟ้องด้วย ประกาศที่แนบมาท้ายฟ้องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของฟ้องซึ่งตามประกาศดังกล่าว ยกเว้นให้ใช้เครื่องมืออวนประเภทติดตาที่มีขนาดตาอวน 47 มิลลิเมตร (4.7 เซนติเมตร) หรือโตกว่า และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงไว้ชัดเจนแล้ว รับฟังได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงขนาดของกลางที่มีขนาดเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 105 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share