คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2487/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามนำสืบว่า ป. สามีโจทก์หลอกลวง บ. บุตรจำเลยที่ 1 ส.หลานจำเลยที่2พ. บุตรจำเลยที่ 3 กับพวกรวม 8 คนว่าสามารถจัดส่งบุคคลทั้งแปดไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้โดยเรียกเงินจากบุคคลทั้งแปดคนละ 52,000 บาท บ. ส.และพ.มีเงินให้ ป. ไม่ถึงคนละ 52,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ให้โจทก์ยึดถือไว้โดยมิได้รับเงินจากโจทก์เลย เมื่อปรากฏในภายหลังว่าความจริง ป. ไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวตามที่อวดอ้างได้ จำเลยทั้งสามจึงขอให้โจทก์คืนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและโฉนดที่ดินที่มอบให้โจทก์ไว้เป็นประกัน แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ดังนี้นอกจากจะเป็นการนำสืบถึงที่มาหรือมูลเหตุแห่งการทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว ยังเป็นการนำสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ มิใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีมาแสดง จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข).

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กู้เงินโจทก์ไป 30,000บาท 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ ตกลงให้ดอกเบี้ยชั่งละ1 บาทต่อเดือน เมื่อกู้ยืมเงินไปแล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องรวม 33,000 บาท และ 44,000 บาทและ 22,000 บาท ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และนายประจวบ เผ่าพันธ์สามีโจทก์ได้ร่วมกันหลอกลวงให้จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องโดยมิได้มอบเงินให้จำเลยทั้งสาม และใช้อุบายว่าสามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้จะได้เงินเดือน 8,000 บาท ทำงาน 2 ปีเรียกค่าสมัครจากผู้สมัครไปทำงานคนละ 52,000 บาท ถ้าคนใดจ่ายไม่ครบขาดอีกเท่าใดก็ทำสัญญากู้ยืมเงินพร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินให้ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำสัญญากู้ตามฟ้องเพราะจะส่งบุตรไปทำงาน ส่วนจำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ตามฟ้องเพราะจะส่งหลานไปทำงาน ต่อมาโจทก์กับสามีโจทก์ไม่สามารถส่งบุตรหลานจำเลยทั้งสามกับคนอื่น ๆ ไปทำงานที่ต่างประเทศได้ จำเลยทั้งสามจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ขอเงินค่าสมัครและหนังสือสัญญากู้ยืมเงินคืน แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ จำเลยจึงทราบว่าถูกโกง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 6298, 4746 และ 4275ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่มอบให้โจทก์ยึดถือไว้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ไม่เคยใช้อุบายหลอกลวงดังจำเลยอ้าง โจทก์และสามีโจทก์มีอาชีพทำนาไม่เคยได้รับเงินจากบุตรและหลานจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามต่างกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง ขอให้ยกฟ้องแย้งและพิพากษาให้จำเลยแต่ละสำนวนรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 6298, 4746 และ 4275 ตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6298 ไว้เป็นประกันปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 17 ตุลาคม 2526 เอกสารหมายจ.3 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 40,000 บาท ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 4746 ไว้เป็นประกัน ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 16 ตุลาคม 2526 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 4275 ไว้เป็นประกัน ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 17 ตุลาคม 2526เอกสารหมาย จ.1
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายบังคับให้ต้องทำพยานหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยทั้งสามได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1, จ.2 และ จ.3 ซึ่งมีข้อความว่าจำเลยแต่ละคนได้รับเงินไปจากโจทก์ตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาครบถ้วนแล้ว จะนำสืบว่าไม่ได้รับเงินไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในพยานเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแ่ง มาตรา 94 นั้น จำเลยทั้งสามนำสืบว่า นายประจวบสามีโจทก์หลอกลวงนายบุญเสริมบุตรจำเลยที่ 1 นายสมคิดหลานจำเลยที่ 2 นายสัมพันธ์บุตรจำเลยที่ 3 กับพวกรวม8 คนว่าสามารถจัดส่งบุตรทั้งแปดไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้โดยเรียกเงินจากบุคคลทั้งแปดคนละ 52,000 บาท นายบุญเสริม นายสมคิดและนายสัมพันธ์มีเงินให้นายประจวบไม่ถึงคนละ 52,000 บาท จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ให้โจทก์ยึดถือไว้โดยมิได้รับเงินจากโจทก์เลย เมื่อปรากฏต่อจำเลยทั้งสามในภายหลังว่าความจริงนายประจวบไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวตามที่อวดอ้างไว้ จำเลยทั้งสามจึงขอให้โจทก์คืนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและโฉนดที่ดินที่มอบให้โจทก์ไว้เป็นประกัน แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามเช่นนี้นอกจากจะเป็นการนำสืบถึงที่มาหรือมูลเหตุแห่งการทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วยังเป็นการนำสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์มิใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีมาแสดงจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)…เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายประจวบสามีโจทกืหลอกลวงนายบุญเสริมบุตรจำเลยที่ 1 นายสมคิดหลานจำเลยที่ 2 และนายสัมพันธ์บุตรจำเลยที่3 ว่า ตนสามารถจะส่งคนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศได้โดยเรียกร้องเงินจากคนหางานคนละ 52,000 บาท นายบุญเสริม นายสมคิด และนายสัมพันธ์ หลงเชื่อแต่มีเงินให้นายประจวบไม่ครบคนละ 52,000 บาทจำเลยทั้งสามจึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์สำหรับจำนวนเงินที่ยังขาดจำนวน 52,000 บาท อยู่และมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้เมื่อปรากฏว่าความจริงนายประจวบไม่สามารถส่งบุคคลทั้งสามไปทำงานที่ต่างประเทศดังที่หลอกลวงไว้ สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ที่บังคับกันได้ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหาได้ไม่ ทั้งไม่อาจยึดถือโฉนดที่ดินที่จำเลยทั้งสามนำมาให้โจทก์ไว้เพราะไม่มีหนี้เกี่ยวด้วยโฉนดที่ดินดังกล่าว…”
พิพากษายืน.

Share