คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้า หัวเข่าขวาแตก ได้รับอันตรายสาหัสนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง15 วัน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วยังต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือนจึงค่อย เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้นแต่ก็ยังไม่ปกติ สมควรกำหนดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมาน 10,000 บาท.
หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิม นั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลัง ไม่สามารถวิ่งและออกกำลังกาย ได้ เห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้เสื่อมเสียบุคลิกภาพไป สมควรกำหนดค่าเสียหายให้10,000 บาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 249,983 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 23,491 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 11,668 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 22,505 บาทโจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 18,973 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 232,543 บาท 21,853 บาท 10,855 บาท20,935 บาท และ 17,650 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิด โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 31,143 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 4,853 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 955 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 800 บาท โจทก์ที่ 5เป็นเงิน 12,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 พฤศจิกายน2524) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน โจทก์ที่ 4 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหนึ่งในสาม และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 16,208.67 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 2,835.33บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประเด็นว่า โจทก์ที่ 4 ขับรถยนต์โดยประมาทด้วยหรือไม่นั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความยืนยันว่าขณะเกิดเหตุการจราจรที่ถนนงามวงศ์วานมีรถติดมาก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรยืนคอยห้ามรถที่ถนนงามวงศ์วาน ให้รถหยุดทั้งสองด้านไม่ให้วิ่งผ่านไปและขณะเดียวกันก็ให้รถจากที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขับออกไปได้ โจทก์ที่ 4 จึงขับรถออกจากที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นคันที่ 3 ขับตรงออกไปแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนงามวงศ์วาน เพื่อไปตลาดพงษ์เพชรด้านแยกแคลายจำเลยขับรถวิ่งสวนทางมาโดยแซงรถที่จอดล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องทางเดินรถของโจทก์ที่ 4 ด้วยความเร็วสูงประมาณ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาชนรถโจทก์ที่ 4ด้านหน้าข้างซ้ายอย่างแรง ถูกชนแล้วรถโจทก์ที่ 4 หันหัวรถกลับไปทางที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประตูรถเปิดออก โจทก์ที่ 4 ตกลงไปที่ถนนโจทก์ที่ 1 สลบอยู่ในรถจำเลยมิได้นำสืบพยาน ทั้งจำเลยได้ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้เสียหาย ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส และนำรถที่ห้ามล้อใช้การไม่ได้อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาจำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 3,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 เดือนปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3798/2525ของศาลดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาทเพียงฝ่ายเดียว โดยที่โจทก์ที่ 4 ไม่ได้ขับรถโดยประมาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 4 ขับรถโดยประมาทด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น
ประเด็นต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 มีจำนวนเท่าใด โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้าหัวเข่าขวาแตกได้รับอันตรายสาหัส พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 15 วัน เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิม นั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลัง ขาเล็กไปข้างหนึ่ง เดินไม่เหมือนเดิม ขากะเผลก นั่งชันเข่า วิ่ง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และทำงานหนักไม่ได้ เสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 23,343 บาทศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ 22,413 บาท ขาดไป 930 บาท ขอคิดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นเงิน 50,000 บาทศาลอุทธรณ์ให้เพียง 900 บาท ขอเพิ่มอีก 49,100 บาท ค่าเสื่อมเสียบุคลิกภาพเป็นเงิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดให้ ค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานเป็นเงิน 19,200 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียง 1,000บาท ขอเพิ่มอีก 18,200 บาท โจทก์ที่ 4 ฎีกาขอคิดค่านาฬิกาข้อมือที่ขาดหายไปเป็นเงิน 8,000 บาท พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 จำนวน 23,343 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.11 ถึง จ.16 ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ที่ 1 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.13 จ.14 เป็นเงิน22,413 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11จ.12 จ.15 จ.16 เป็นเงิน 930 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดให้นั้นเห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.11 จ.12 จ.15และ จ.16 เป็นค่าพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้ 2 วัน ในวันที่ 20,21 พฤศจิกายน2524 เป็นเงิน 500 บาท ค่ายา ค่ารักษา 180 บาท และค่าเอกซเรย์250 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 1 มีใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลมาแสดง จำเลยจึงต้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้เป็นเงิน 930 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ด้วยค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ โจทก์ที่ 1ขอมา 50,000 บาท นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสะบ้าหัวเข่าขวาแตกได้รับอันตรายสาหัส นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง 15 วัน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกหลายเดือนจึงค่อยเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังไม่ปกติจนทุกวันนี้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าป่วยเจ็บที่ต้องทนทุกข์ทรมานให้เพียง 900 บาท เห็นว่า กำหนดให้น้อยไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 10,000 บาท ค่าเสื่อมเสียบุคลิกภาพเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น ปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่าหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้เข่าขวาได้ดีเหมือนเดิมนั่งพับเพียบไม่ได้ นั่งยอง ๆ ไม่ได้ ขาไม่มีกำลัง ไม่สามารถวิ่งและออกกำลังกายได้ และแพทย์ได้ออกหนังสือรับรองตามเอกสารหมายจ.17 จ.18 ว่า โจทก์ที่ 1 กระดูกสะบ้าขาข้างขวาแตกเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนกัน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการเคลื่อนไหวจากสภาพร่างกายของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้เสื่อมเสียบุคลิกภาพไป เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 10,000บาท ค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานเป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 19,200 บาทนั้น ตามหนังสือรับรองของแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.18 แพทย์ให้ความเห็นว่า ควรพักรักษาตัว 30 วัน และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ขาขวาได้เหมือนปกติโดยงอเข่าไม่ได้ และไม่สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางได้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 สะบ้าหัวเข่าข้างขวาแตก ต้องทำการผ่าตัดหัวเข่าเป็นอวัยวะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของข้อเข่า จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1ไม่สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางเป็นเวลา 4 เดือนจริง แต่โจทก์หยุดพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 15 วัน และหยุดในวันหยุดทำงานแต่ละสัปดาห์อีก เมื่อหักวันหยุดดังกล่าวออกแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าจ้างรถรับจ้างไปทำงานให้ 3 เดือน เป็นเงิน 14,400 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 57,743 บาท โจทก์ที่ 4 ฎีกาว่านาฬิกาข้อมือยี่ห้อโอเมก้า 1 เรือน ราคา 8,000 บาท ได้ขาดหายไปนั้นปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่า วันเกิดเหตุก่อนเหตุเกิดโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เห็นโจทก์ที่ 4 ใส่นาฬิกาข้อมือหลังเกิดเหตุ เมื่อโจทก์ที่ 4 ถูกนำตัวถึงโรงพยาบาลนนทเวชซึ่งอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุแล้ว โจทก์ที่ 4 จึงรู้ตัวว่านาฬิกาข้อมือขาดหายไป ให้คนมาค้นหา ณ ที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบ และโจทก์ที่ 4 ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ตามบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.28จำเลยมิได้นำสืบพยานจึงเชื่อได้ว่า นาฬิกาข้อมือของโจทก์ที่ 4ยี่ห้อโอเมก้าได้ขาดหายไปเนื่องจากเหตุรถยนต์ของจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 4 จริง ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 4,000 บาทเนื่องจากเป็นนาฬิกาเก่าใช้มาหลายปีแล้ว รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในส่วนอื่นอีก 600 บาท จึงรวมเป็น4,600 บาท ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 57,743 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 4,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ชนะคดี

Share