แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารขนาด 16 คูหา แบ่งงวดงานก่อสร้างทั้งหมด 11 งวด กำหนดลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดงวดในสัญญาได้ โจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับโดยเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการก่อสร้างตามงวดงาน เอกสารทุกฉบับที่โจทก์ที่ 1 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลังจากครบกำหนดตามสัญญาก่อสร้างแล้ว ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญแม้จะส่งงานเกินกำหนดเวลาแต่ละงวดโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับผลงาน การที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับผลงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงวดงานจึงเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาว่าจ้างไปโดยไม่มีกำหนด มิได้ถือเอาวันที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธโดยขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2539 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานทั้งหมดใหม่คือวันที่ 15 กันยายน 2539 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 กันยายน 2539 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 มิใช่วันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนั้น จำเลยจที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสิบหก
เมื่อฝ่ายโจทก์มิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ และได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานใหม่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 จึงอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2538 หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 จากจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจกท์ทั้งสิบหกในคดีแรกและจำเลยทั้งสิบหกในคดีหลังว่า โจทก์ทั้งสิบหกให้เรียกจำเลยในคดีแรกและโจทก์ที่ 1 ในคดีหลังว่า จำเลยที่ 1 และให้เรียกโจทก์ที่ 2 ในคดีหลังว่า จำเลยที่ 2
ในคดีแรกโจทก์ทั้งสิบหกฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบหกร่วมทุนกันปลูกสร้างอาคารพร้อมที่ดินเพื่อจำหน่ายโดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคาร จำนวน 16 คูหา เป็นเงิน 29,440,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทั้งยังอ้างสิทธิยึดหน่วงครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและส่งมอบให้โจทก์ทั้งสิบหกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยเด็ดขาด และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 10,465,505.04 บาท แก่โจทก์ทั้งสิบหก พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา ฝ่ายโจทก์ทั้งสิบหกเองที่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างเกินกว่าระยะเวลาที่ตกลงไว้ ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของการก่อสร้างเพื่อเอาใจลูกค้าของฝ่ายโจทก์ทั้งสิบหกถือว่าโจทก์ทั้งสิบหกมิได้ถือเอาระยะเวลาของการก่อสร้างตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ และโจทก์ทั้งสิบหกใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือ ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสิบหกเรียกร้องมานั้นสูงเกินความเป็นจริง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะเรียกได้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะยึดหน่วงตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสิบหกไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ในคดีหลังจำเลยทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบหกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยทั้งสองก่อสร้างและส่งมอบอาคารเพื่อขอรับเงินงวดที่ 9 จำนวน 2,384,640 บาท โจทก์ทั้งสิบหกกลับไม่ยอมรับมอบงานหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังก่อสร้างจนงานแล้วเสร็จ โจทก์ทั้งสิบหกบอกเลิกสัญญาโดยใช้สิทธิไม่สุจริต ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสิบหก ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 21,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,384,640 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 คืนเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัตนาธิเบศร์ เลขที่ 6555472 แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสิบหกให้การว่า โจทก์ทั้งสิบหกไม่เคยตกลงขยายระยะเวลาก่อสร้างให้จำเลยทั้งสอง ข้อขัดข้องต่างๆ เป็นความผิดของจำเลยทั้งสองเอง โจทก์ทั้งสิบหกตักเตือนและเร่งรัดการทำงานของจำเลยทั้งสองตลอดมา จำเลยที่ 1 ไม่เอาใจใส่ในการทำงานตามสัญญาจ้าง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานและเวลา การที่ลูกค้าขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบและรายการเป็นเรื่องระหว่างลูกค้ากับจำเลยทั้งสองเองโจทก์ทั้งสิบหกไม่ได้รับรู้ด้วย โจทก์ทั้งสิบหกไม่เคยตกลงให้จำเลยทั้งสองส่งงวดงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา การส่งมอบงวดงานที่ 9 นั้น จำเลยทั้งสองดำเนินการไม่ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงระงับการจ่ายค่าจ้าง ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองเรียกมานั้นไม่ถูกต้อง ฟ้องของจำเลยทั้งสองเคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและอาคาร 16 คูหา โฉนดเลขที่ 490 ถึง 497 และ 503 ถึง 510 ถนนเย็นอากาศ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนโจทก์ทั้งสิบหก ห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,038,035.15 บาท แก่โจทก์ทั้งสิบหก พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ทั้งสิบหกคืนเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัตนาธิเบศร์ เลขที่ 6555472 แก่จำเลยที่ 1 คำขออื่นของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสิบหก โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 30,000 บาท เฉพาะค่าข้นศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระแทนเพียงเท่าที่โจทก์ทั้งสิบหกชนะคดี สำหรับคดีหลังค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสิบหกและจำเลยทั้งสองเห็นควรให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสิบหกชำระเงินจำนวน 402,364.85 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำขอของโจทก์ทั้งสิบหกในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกและคำขอส่วนอื่นของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสิบหกและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารขนาด 16 คูหา เป็นเงินทั้งสิ้น 29,440,000 บาท กำหนดลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 รายละเอียดปรากฏตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสิบหกและจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสิบหกหรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา และค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาโจทก์ทั้งสิบหกและจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงจากคำพยาน นายประพล กรรมการผู้จัดการโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ถึง 16 เบิกความว่าหลังจากเซ็นสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1ได้เริ่มทำงานก่อสร้างตามสัญญาแต่ผลงานก่อสร้างช้ากว่ากำหนดมากไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะจำเลยที่ 1 มีคนงานน้อยและคนงานไม่ตั้งใจทำงาน คุณภาพการทำงานไม่ดี ผลงานแต่ละงวดไม่เป็นไปตามสัญญา โจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งเร่งรัดให้จำเลยที่ 1ทำงานให้เร็วขึ้นและปรับปรุงผลการทำงานให้ถูกต้องตามสัญญา เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาว่าจ้างคือ วันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์ที่ 1 จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินทั้งหมด 7 งวด หลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วโจทก์ที่ 1 เตือนให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับอีกหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ดังนั้นในวันที่ 16 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย จำเลยที่ 1 จะต้องเสียค่าปรับให้โจทก์ที่ 1 วันละ 1,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 เป็นเวลา 315 วัน และโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าปรับให้บุคคลภายนอกที่ไม่สามารถส่งมอบบ้านให้ทันภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าควบคุมงานให้แก่โจทก์ที่ 1 ค่ารับเงินในงวดที่ 8 เกินไป และค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาก่อสร้างงานที่เหลือในงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 11 ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่า หลังจากทำสัญญาก่อสร้างแล้วได้เริ่มลงมือก่อสร้างแต่เกิดปัญหาในการก่อสร้าง ได้ปรึกษากับโจทก์ที่ 1 แล้ยยินยอมเปลี่ยนแปลงงวดงานต่างๆ ตั้งแต่งวดที่ 3 โดยนำเอาเนื้องานของงวดอื่นมาทดแทน ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์ขาดแรงงานเป็นจำนวนมาก เมื่อจำเลยที่ 1 หารือกับโจทก์ที่ 1 แล้วตกลงให้เร่งก่อสร้างเฉพาะห้องที่มีลูกค้าจองซื้อไว้แล้ว และโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จนกระทั่งถึงงานงวดที่ 9 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างได้ประมาณ 90 เปอร์ซ์นต์ จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงวดงานพร้อมทั้งขอเบิกค่าก่อสร้างในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ไม่จ่ายเงินค่างวดให้ มีการเจรจากับโจทก์ที่ 1 หลายครั้ง แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมชำระเงินค่าก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงหยุดทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 ในการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินค่าจ้างจำนวน 8 งวด เป็นเงิน 16,000,000 บาทเศษ งานงวดที่ 9 โจทก์ที่ 1 จะต้องจ่ายค่าว่าจ้างจำนวน 2,384,640 บาท ส่วนการคำนวณค่าเนื้องานก่อสร้างตามสัญญาทั้งหมดจนถึงวันบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยังต้องจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 อีก 8,000,000 บาท พร้อมทั้งค่าสินไหมทดแทนของการบอกเลิกสัญญาจำนวน 5,000,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.6 ได้แบ่งงวดงานก่อสร้างทั้งหมด 11 งวด และกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 30 กันยายน 2538 ข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายรับว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดงวดในสัญญาได้ สาเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างเนื่องจากอุปสรรคในการก่อสร้างและปัญหาวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ปัญหาดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับโดยจะเห็นได้ว่าเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2538 แล้ว โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้เร่งรัดทำการก่อสร้างตามงวดงาน ซึ่งเอกสารทุกฉบับที่โจทก์ที่ 1 ส่งถึงจำเลยที่ 1 นั้น เป็นเวลาภายหลังจากครบกำหนดตามสัญญาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.6 แล้วฝ่ายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญ แม้จะส่งงานเกินกำหนดเวลาแต่ละงวดโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับผลงาน หลักฐานตามเอกสารหมาย จ.22 เป็นการส่งงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8 เมื่อพิจารณารายละเอียดในเอกสารหมาย จ.22 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานงวดที่ 8 ลงวันที่ 3 เมษายน 2539 ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสิบหกรับว่าโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายเงินงวดที่ 8 ให้จำเลยที่ 1 จริง เห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าว การที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับผลงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงวดงานจึงเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาว่าจ้างไปโดยไม่มีกำหนด มิได้ถือเอาวันที่กำหนดไว้คือ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ ต่อมาจนกระทั่ง จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธโดยขอให้จำเลยที่ 1ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2539 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานทั้งหมดใหม่คือวันที่ 15 กันยายน 2539 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 16 กันยายน 2539 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 ดังนั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 มิใช่วันที่ 30 กันยายน 2538 ดังที่ โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างเป็นฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสิบหก
ปัญหาว่าความเสียหายของฝ่ายโจทก์มีเพียงใดนั้น กรณีเงินค่าปรับรายวันวันละ 1,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 คือวันที่ 30 กันยายน 2538 จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 เป็นเวลา 315 วัน คิดเป็นเงิน 526,500 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ฝ่ายโจทก์มิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ และได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานใหม่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2539 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2539 หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกค่าปรับรายวันตามสัญญาในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 จากจำเลยที่ 1 ได้
ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถรับเงินค่างวดสุดท้ายในวันส่งมอบอาคารและที่ดินให้ผู้จองซื้อ ซึ่งโจทก์ที่ 1 อ้างว่าค่าเสียหายส่วนนี้เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างและส่งมอบงานให้โจทก์ที่ 1 ได้ตามกำหนดสัญญา โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าปรับให้แก่ลูกค้าที่ขอจองซื้อ และหากโครงการดังกล่าวก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิรับเงินค่างวดจากลูกค้าที่จองซื้อรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 โดยค่าเสียหายส่วนนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 แย้งว่าลูกค้าผู้จองซื้ออาคารและที่ดินไม่มีผู้ใดฟ้องเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 เห็นว่า รายละเอียดในเอกสารหมาย จ.40 เป็นเพียงการคิดคำนวณของโจทก์ที่ 1 เอง โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานว่าจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับลูกค้าอย่างไร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงชอบแล้ว และในส่วนค่าจ้างผู้ควบคุมงานอัตราวันละ 600 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2538 จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 คิดเป็นเงิน 210,600 บาท นั้น ค่าเสียหายส่วนนี้เห็นไม่สมควรกำหนดให้ แต่เห็นสมควรกำหนดค่าจ้างบุคคลภายนอกควบคุมงานก่อสร้างส่วนที่เหลือหลังจากวันที่ 17 กันยายน 2539 จนแล้วเสร็จเป็นระยะเวลา 4 เดือน เป็นจำนวนเงิน 72,000 บาท
สำหรับค่าเสียหายของงวดงานงวดที่ 9 ถึง 11 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำค้างไว้ โจทก์ที่ 1 ต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกมาดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยใช้ค่าวัสดุ ค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายต่างๆ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามท้ายสัญญาหมาย จ.6 ข้อ 19.2 ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำนวน 1,000,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียง 100,000 บาท โจทก์ที่ 1 ว่าส่วนนี้ศาลอุทธรณ์กำหนดให้น้อยเกินควร ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 1,000,000 บาท เหมาะสมแล้ว เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนั้นต่ำเกินสมควร เห็นควรกำหนดค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้คือ 1,000,000 บาท สำหรับงวดงานที่ 1 ถึงงวดที่ 8 นั้น โจทก์ที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานบกพร่องไม่ครบถ้วน ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าก่อสร้างงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามงวดต่างๆ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดการส่งมอบงวดงานตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8 แล้ว ทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งหรือสงวนสิทธิเกี่ยวกับค่าเสียหายหรือจำนวนเนื้องานที่เกินแต่ประการใดจึงไม่คิดคำนวณค่าเสียหายในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8 ให้
สำหรับงานในงวดที่ 9 นั้น โจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าเมื่อตรวจสอบผลงานก่อสร้างของจำเลยที่ 1 แล้วปรากฏว่าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,477,980 บาท ถือว่าโจทก์ที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ เมื่อรวมจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วเป็นเงิน 1,072,000 บาท ฉะนั้นโจทก์ทั้งสิบหกจึงต้องชำระเงินที่เหลืออีกจำนวน 405,980 บาทแก่จำเลยที่ 1”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสิบหกชำระเงินจำนวน 405,980 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ