คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาตกลงให้ อ. ภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจโรงโม่หินของตนตลอดมา ซึ่งเครื่องจักรนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จำนำซื้อจากโจทก์เพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้ และนำเงินชำระคืนแก่ผู้ร้องซึ่งรับจำนำ แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์จะมีข้อตกลงว่าผู้จำนำได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย การที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามมาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร
เจ้าหนี้ที่จะมีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของ เจ้าหนี้นั้นจะต้องทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการก่อสร้างเพื่อให้มีผลบริบูรณ์เป็นบุริมสิทธิพิเศษใช้ยันเจ้าหนี้อื่นในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 286 โจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งบุริมสิทธิในมูลจ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายให้มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ทำการงานขึ้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของลูกหนี้ แต่ที่ดินซึ่งโจทก์ทำการก่อสร้างโรงโม่หินเป็นของกรมป่าไม้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 และมาตรา 275 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เมื่อโจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้สามัญด้วยกัน จึงชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 เพื่อเฉลี่ยทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,800,000 บาท นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2539 ของต้นเงิน 4,560,000 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 2,925,000 บาท นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2539 และของต้นเงิน 5,850,000 บาท นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อทำการขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 40,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อปี จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระเงินคืนให้แก่ผู้ร้องรวม 9 งวด ระยะห่างกันงวดละ 6 เดือน ชำระงวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ชำระงวดสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2544 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนจากผู้ร้องเพื่อนำไปใช้ในโครงการของจำเลยที่ 1 อีกในวงเงินไม่เกิน 27,000,000 บาท มีกำหนดชำระ 1 ปี เพื่อเป็นประกันการกู้ยืนเงินและเบิกเงินทุนหมุนเวียนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ไว้แก่ผู้ร้องรวม 5 ครั้ง หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนจากผู้ร้อง จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินกู้และเงินทุนหมุนเวียนไปจากผู้ร้องครบจำนวนแล้ว แต่ต่อมาผิดนัดชำระหนี้ ผู้ร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองกับพวกรวม 3 คน ให้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องรวมเป็นต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าดอกเบี้ยของเบี้ยประกันภัยคิดถึงวันที่ยื่นคำร้องขอทั้งสิ้น 113,827,286.07 บาท คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำนวน 84 รายการ สำหรับทรัพย์ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4 ลำดับที่ 7 ถึงที่ 10 และลำดับที่ 13 ถึงที่ 47 จำเลยที่ 1 ได้จำนำเป็นประกันหนี้ไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนำจึงชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาทรัพย์สินที่จำนำดังกล่าวหรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นโดยอาศัยอำนาจบุริมสิทธิ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเฉพาะทรัพย์ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4 ลำดับที่ 7 ถึงที่ 10 และลำดับที่ 13 ถึงที่ 47 ชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์และเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ ตามกฎหมาย หากโจทก์เพิกเฉยไม่กระทำการบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ หรือสละสิทธิในการบังคับคดี หรือถอนการบังคับคดีและทำให้การบังคับคดีล่าช้า ขอให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดแล้ว ยังไม่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอ การจำนำทรัพย์ระหว่างจำเลยที่ 1 และผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามวันเวลาที่ผู้ร้องระบุในคำร้องขอว่ามีการทำสัญญาจำนำนั้น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เพราะว่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นและในวันเวลาที่จำเลยที่ 1 นำไปจำนำแก่ผู้ร้องนั้น โจทก์ยังไม่ได้จัดทำหรือส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด และทรัพย์สินที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นเป็นส่วนควบของโรงโม่หินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดไว้ซึ่งมีลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์อันไม่อาจจำนำได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเอาบุริมสิทธิมาใช้ยันเพื่อขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น การจำนำทรัพย์ระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ผู้ร้องมิได้ยึดทรัพย์สินที่จำนำไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ผู้ร้องยินยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 การจำนำย่อมระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างบุริมสิทธิใดๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องได้ ทรัพย์ที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในลำดับที่ 1 ถึงที่ 4 ลำดับที่ 7 ถึงที่ 10 และลำดับที่ 13 ถึงที่ 47 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 จำนำไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องรับจำนำไว้โดยไม่สุจริต โดยหลบเลี่ยงมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ ผู้ร้องทราบดีว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ร้องนั้น ผู้ร้องจะต้องชำระเงินตามที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมบางส่วนเพื่อเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างทำของโดยผู้ร้องจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบและวิธีปฏิบัติของผู้ร้องในเรื่องการชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์มีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของเป็นการงานขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ (โรงโม่หินที่โจทก์นำยึดในคดีนี้) โจทก์ย่อมมีบุริมสิทธิดีกว่าผู้ร้องในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดตามคำร้องขอก่อนผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนำเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องดีกว่าบุริมสิทธิของโจทก์ การจำนำทรัพย์ระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นนิติกรรมอำพรางที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นโดยมีเจตนาแท้จริงเป็นการจำนำสิทธิในการประกอบกิจการโรงโม่หินของจำเลยที่ 1 อันเป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสาร แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบตราสารใดๆ ให้แก่ผู้ร้องได้เนื่องจากผู้ร้อง (ที่ถูกน่าจะเป็นจำเลยที่ 1) ยังค้างชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มิได้ออกเอกสารสำคัญเพื่อใช้ประกอบการออกตราสารของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถส่งมอบตราสารให้แก่ผู้ร้องได้ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จึงจัดทำนิติกรรมในรูปแบบของการจำนำเพื่ออำพรางการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสาร การจำนำดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งนิติกรรมอันเป็นโมฆะมาร้องเป็นคดีนี้ได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้ในลำดับหลังจากที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเฉพาะทรัพย์ลำดับที่ 1 ถึงที่ 4 ลำดับที่ 7 ถึงที่ 11 (ที่ถูกถึงที่ 10) และลำดับที่ 13 ถึงที่ 47 ชำระหนี้ผู้ร้องก่อนโจทก์ หากโจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีก็ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงโม่หินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนจากผู้ร้องมาใช้ในกิจการโรงโม่หินของจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาจำนำเครื่องจักรบางส่วนภายในโรงงานไว้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์เอกสารหมาย ร.11 ถึง ร.15 เพื่อเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดโรงโม่หินของจำเลยที่ 1 อันเป็นทรัพย์ที่โจทก์เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง เพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2542 สำหรับหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมจากผู้ร้องนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัด ผู้ร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองกับพวกชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองกับพวกชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิตามสัญญาจำนำเพียงใด เห็นว่า การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาจำนำตกลงให้นางอรวรุณภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ และได้ความจากนายทรงวุฒิกับนายเกรียงไกรพยานผู้ร้องว่า จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจโรงโม่หินของตนตลอดมา ซึ่งเครื่องจักรนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จำนำ ซื้อจากโจทก์เพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้ และนำเงินชำระคืนแก่ผู้ร้องซึ่งรับจำนำ การจำนำเครื่องจักรจึงเป็นหนทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการจดทะเบียนจำนอง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ต้องการใช้เครื่องจักรนำมาผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์ ข้อ 3 ตามเอกสารหมาย ร.11 ถึง ร.15 จะมีข้อตกลงว่าผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตาม ก็เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ทั้งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำของผู้ร้องจึงระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรควรยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้มีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของนั้น เจ้าหนี้ต้องทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการก่อสร้างเพื่อให้มีผลบริบูรณ์เป็นบุริมสิทธิพิเศษใช้ยันเจ้าหนี้อื่นในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 286 แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าว นอกจากนี้ บุริมสิทธิในมูลจ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายให้มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ทำการงานขึ้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของลูกหนี้ แต่ที่ดินซึ่งโจทก์ทำการก่อสร้างโรงโม่หิน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นของกรมป่าไม้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273 และมาตรา 275 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเช่นกัน ดังนั้น ทั้งโจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้สามัญด้วยกัน จึงชอบที่จะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 เพื่อเฉลี่ยทรัพย์ต่อไป ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share