คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2442/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอื่น โจทก์ร่วมมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้านี้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเคยลงโฆษณาในวารสารที่จำเลยที่ 6 เป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณา จำเลยสั่งซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ไปจากตัวแทนของโจทก์ร่วมหลายครั้ง การที่จำเลยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’เข้ามาจากไต้หวัน ตามเหตุผลเป็นข้อที่ชวนให้สงสัยในพฤติการณ์ของจำเลยว่า น่าจะรู้ว่าเครื่องหมายการค้านี้ความจริงเป็นของผู้ใด มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไหน การสั่งสินค้าซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจากไต้หวันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอให้ฟังได้แล้วว่าเป็นความผิด แต่เครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ที่ปรากฏในวารสารดังกล่าวและในใบส่งสินค้าที่ตัวแทนโจทก์ร่วมส่งมอบแก่จำเลยมิได้ระบุชัดถึงตัวผู้เป็นเจ้าของและแหล่งผลิตว่ามาจากประเทศใด ทั้งจำเลยก็ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้แล้วจนเกิดเป็นกรณีพิพาทในทางแพ่งกับโจทก์ร่วม ดังนั้นการที่จะถือเอาแต่ลำพังพฤติการณ์ตามที่ปรากฏแล้วสันนิษฐานว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดในทางอาญาจึงยังฟังไม่ถนัด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมการ เมื่อระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2524 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2524 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สออกซิเจน จำนวน 700 อัน และมาตรวัดความดันแก๊สอะซีทีลิน จำนวน 300อัน ซึ่งบรรจุหีบห่อที่มีรูปรอยประดิษฐ์และเครื่องหมายการค้า’แฮร์รีส’ อยู่ในวงกลมรูปไข่ อันเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าที่บริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด ผู้เสียหายได้จดทะเบียนไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้โดยจำเลยรู้แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2524 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2524 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้ร่วมกันเสนอขายสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สออกซิเจน จำนวน 9 อัน มาตรวัดความดันแก๊สอะซีทีลีน จำนวน 19 อัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าใช้เครื่องหมายปลอมแก่ประชาชน ในร้านค้าของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1), 273, 275, 83, 32, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 2 ริบของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
บริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด ผู้เสียหาย ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์ โดยเฉพาะโจทก์อธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหก
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาบรรยายมาอย่างยืดยาว ซึ่งพอสรุปความได้ว่า จากข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ และโจทก์ร่วม เช่นเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ของโจทก์ร่วมได้เคยลงโฆษณาในวารสาร ‘เชื่อม’ ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของวารสารฉบับนี้ และจำเลยเคยสั่งซื้อสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ไปจากตัวแทนของโจทก์ร่วมหลายครั้ง ทั้งการบรรจุหีบห่อสินค้าที่จำเลยสั่งเข้ามาจากไต้หวันก็มีข้อพิรุธบางประการ ตลอดจนจำเลยทั้งหมดต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกันจึงย่อมจะต้องทราบดีว่า สินค้าดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ตามเหตุผลที่โจทก์อ้างมา เป็นข้อที่ชวนให้สงสัยในพฤติการณ์ของจำเลยว่า น่าจะรู้ว่าเครื่องหมายการค้านี้ความจริงเป็นของผู้ใด มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไหน การที่จำเลยสั่งสินค้าซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจากไต้หวันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จึงน่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอให้ฟังได้แล้วว่าเป็นความผิด แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่าเครื่องหมายการค้า ‘แฮร์รีส’ ที่ปรากฏในวารสาร’เชื่อม’ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและในใบส่งสินค้าที่ตัวแทนของโจทก์ร่วมส่งมอบให้แก่จำเลยนั้นก็มิได้ระบุให้แน่ชัดถึงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของและแหล่งผลิตว่ามาจากประเทศใด ทั้งยังปรากฏว่า จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทนี้ต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และได้รับอนุญาตแล้ว ต่อมาโจทก์ร่วมจึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนบ้างซึ่งจำเลยได้ไปคัดค้านไว้ จนเกิดเป็นกรณีพิพาทกันในทางแพ่งอยู่ที่ศาลระหว่างนี้ ดังนั้นการที่จะถือเอาแต่ลำพังพฤติการณ์ตามที่ปรากฏ แล้วสันนิษฐานว่า จำเลยมีเจตนากระทำผิดในทางอาญาจึงยังฟังไม่ถนัด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share