คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมีจดหมายแจ้งไปถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนฮังการี เพื่อขอความร่วมมือจากสมาชิกคนหนึ่งในสมาคมจำเลยที่ 1 ให้ยกเลิกการสั่งจองห้องพักที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 1มีข้อความว่า “…เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมของเรา ได้ดำเนินคดีต่อผู้บริหารกิจการโรงแรมเพรสิเดนท์คือบริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์จำกัด เรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านคงจะไม่ต้องมีประสบการณ์กับความกลับกลอกดัง ที่เรา ได้ประสบติดต่อกันมา…เจ้าของโรงแรมได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์ จำกัด เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากเมื่อปีที่แล้วนี้ ด้วยเหตุที่บริษัทผิดนัดไม่จดทะเบียนการเช่า ภายในระยะเวลาที่กำหนด…” คำว่ากลับกลอกมีความหมายในทางกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจเป็นผู้ประพฤติผิดสัญญาทั้งโจทก์ที่ 1 ยังถูกฟ้องฐานผิดสัญญา ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขาดความเชื่อ มั่นในการรักษาคำมั่นสัญญาของโจทก์ที่ 1เป็นการทำให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้รับความเสื่อมเสียในชื่อ เสียงและเกียรติคุณ หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อป้องกันตน หรือส่วนได้เสียตามคลองธรรมแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใส่ความให้โจทก์ที่ 1เสื่อมเสียชื่อ เสียงทางการประกอบกิจการค้า แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นลักษณะแจ้งหรือไขข่าวไปยังสมาชิกของสมาคมเท่านั้นไม่ถึงกับกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนทั่วไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2กระทำผิดมาก่อน จึงควรลงโทษสถานเบา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 326, 328, 332, และ 339 และสั่งให้จำเลยทั้งสองจัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับละ15 วันติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสองรับผิดชอบในค่าใช้จ่าย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วฟังว่ามีมูล มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ให้โมฆณาข้อความคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ เดอะเนชั่นบางกอกโพสต์ ฉบับละ 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการประกาศดังกล่าว คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาคงสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อความในหนังสือเอกสาร จ.2 ที่จำเลยทั้งสองมีไปถึงนายจาโนสเวอเรส เอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนฮังการีเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความให้โจทก์ที่ 1 เสียชื่อเสียหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำแปลของเอกสารฉบับที่กล่าวหาดังกล่าวมีใจความดังนี้
“พณ ฯ เวอเรส
ทางสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยได้ทราบข่าวว่า ทางสถานทูตของท่านได้จองห้องพักไว้ที่โรงแรมเพรสิเดนท์เพื่อใช้ในเวลาอันใกล้นี้เป็นจำนวนมาก อาจจะถึง 29 ห้องด้วยกัน
เราใคร่ขอถือโอกาสนี้เรียนท่านผู้ซึ่งเป็นสมาชิกผู้มีเกียรติของ เอฟ.ซี.ซี.ที ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคมของเราได้ดำเนินคดีต่อผู้บริหารกิจการโรงแรมเพรสิเดนท์ คือ บริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์จำกัด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านคงจะไม่ต้องมีประสบการณ์กับความกลับกลอกดังที่เราได้ประสบติดต่อกันมาในความพยายามของเราและตามสัญญาที่มีการลงนามกันแล้ว เกี่ยวกับความคิดริเริ่มในการก่อสร้างอาคารสมาคมให้เราบนดาดฟ้องของอาคารปีกใหม่ที่โรงแรมเพรสิเดนท์
เราขอเรียนให้ทราบว่า เจ้าของโรงแรมได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบริษัทรีเจนท์ไทยแลนด์ จำกัด เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากเมื่อปีที่แล้วนี้ ด้วยเหตุที่บริษัทผิดนัดไม่จดทะเบียนการเช่าภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้…”
พิเคราะห์ข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้ว ความมุ่งหมายที่จำเลยทั้งสองมีจดหมายเอกสาร จ.2 ไปถึงผู้รับดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นการขอความร่วมมือจากผู้รับผู้เป็นสมาชิกผู้หนึ่งในสมาคมจำเลยที่ 1 ให้ยกเลิกการสั่งจองห้องพักที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 1คำว่ากลับกลอก มีความหมายในทางกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจเป็นผู้ประพฤติผิดสัญญาที่ว่าให้สมาคมจำเลยที่ 1 เช่าสถานที่ในโรงแรมของโจทก์ที่ 1 เพื่อก่อตั้งที่ทำการสมาคมจำเลยที่ 1ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังถูกฟ้องฐานผิดสัญญา การที่จำเลยทั้งสองกล่าวหาโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการรักษาคำมั่นสัญญาของโจทก์ที่ 1 เป็นการทำให้โจทก์ที่ 1ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้รับความเสื่อมเสียในชื่อเสียงและเกียรติคุณ ทั้งกรณีก็หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันตนหรือส่วนได้เสียตามคลองธรรมแต่อย่างใดไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใส่ความให้โจทก์ที่ 1 เสื่อมเสียชื่อเสียทางการประกอบธุรกิจการค้า ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
กรณีคงเหลือปัญหาที่จำเลยที่ 2 ขอให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นรูปลักษณะแจ้งหรือไขข่าวไปยังสมาชิกของสมาคมเท่านั้น ไม่ถึงกับกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนทั่วไป พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้กระทำผิดมาก่อน ควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 ในการกลับตนเป็นพลเมืองดีใหม่ แต่เห็นควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงดทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือนและให้ปรับเป็นเงิน 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น”.

Share