คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้ จ. เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ แม้คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ จ. ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 143, 341 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 9,000,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี ยกฟ้องโจทก์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินสด 9,000,000 บาท นั้น คดีนี้ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 มิใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ที่โจทก์จะเรียกร้องทรัพย์สินแทนผู้เสียหายได้ คำขอในส่วนนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ขอถอนฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 496 เป็นที่ดินสุสานจีนบ้าบ๋า มีนายโลไกจวยในหน้าที่เป็นทรัสตี เมื่อปี 2534 ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า นางจุไรรัตน์ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 พระครูโสภณคุณาธารหรือพระสิงห์โต เจ้าอาวาสวัดสาลี เป็นผู้แนะนำนายเจษฎา ผู้เสียหายให้รู้จักกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยได้มีการตกลงกัน ดำเนินการให้มีการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้เป็นชื่อของนางจุไรรัตน์เพื่อผู้เสียหายจะขายที่ดินดังกล่าวต่อไป ในการดำเนินการ ผู้เสียหายตกลงชำระค่าใช้จ่าย 9,000,000 บาท ด้วยการสั่งจ่ายเช็คเงินสด 6 ฉบับ ฉบับละ 1,500,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 9,000,000 บาท ให้ผู้เสียหายเป็นประกัน มีจำเลยที่ 2 และนายไว ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค หลังจากนั้นไม่มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของนางจุไรรัตน์ตามข้อตกลง เมื่อผู้เสียหายนำเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงและคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 9,000,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกคำขอดังกล่าว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันเรียกและรับเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี จำเลยที่ 2 ถอนฎีกาและได้รับอนุญาตแล้ว คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องในคดีอาญา แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยโดยเห็นว่าเป็นการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หาทำให้มีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องการบรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น ย่อมสามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนเช่นกันและเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเรียกและรับเงิน 9,000,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการตามหน้าที่โดยยกเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้นางจุไรรัตน์เป็นฝ่ายแพ้คดี และมีคำสั่งใหม่ให้นางจุไรรัตน์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ อันเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่นางจุไรรัตน์หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ไม่ ดังนั้น แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าและคดีถึงที่สุดไปก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งอดีตประธานศาลฎีกาและประธานศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่นางจุไรรัตน์ได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกับพวกเรียก รับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายและนางสาวกิติวันซึ่งเป็นประจักษ์พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อน จึงไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน ทำให้ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ได้รับโทษ ทั้งผู้เสียหายและนางสาวกิติวันยังเบิกความสอดคล้องต้องกันเป็นลำดับสมเหตุผล และมีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยแต่ละคน โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายและเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เสียหายและนางสาวกิติวันว่า จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องเขยของประธานศาลฎีกาในขณะนั้น อันเป็นข้อมูลที่เป็นการจูงใจให้ผู้เสียหายเชื่อถือ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังแจ้งแก่ผู้เสียหายด้วยว่า ได้พูดคุยกับจำเลยที่ 3 และประธานศาลฎีกาในขณะนั้นแล้วว่าสามารถดำเนินการให้นางจุไรรัตน์ครอบครองปรปักษ์ที่ดินได้ โดยต้องใช้เงิน 30,000,000 บาท เมื่อผู้เสียหายตกลงให้เงิน 9,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ตกลง โดยมากับจำเลยที่ 3 ซึ่งแนะนำตัวเองว่าเป็นน้องเขยของประธานศาลฎีกาในขณะนั้น และได้พูดคุยกับประธานศาลฎีกาว่าจะรับเงินไป โดยให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับนางจุไรรัตน์เพื่อให้มีสิทธิในการขายที่ดินแต่เพียงผู้เดียว ทั้งจำเลยที่ 3 ยังอ้างถึงวิธีการดำเนินการให้ผู้เสียหายและนางสาวกิติวันฟัง นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสำเนาเช็คมาสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวกิติวัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ดังกล่าวว่า ได้รับเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวจากผู้เสียหาย เมื่อพิจารณาสำเนาเช็คปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเช็คฉบับละ 1,500,000 บาท 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 9,000,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คไม่ระบุชื่อและไม่ขีดคร่อมสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวกิติวัน จึงยิ่งสนับสนุนให้คำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวกิติวันที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 แจ้งว่า จะนำเงินไปให้ประธานศาลฎีกาเพื่อดำเนินการให้นางจุไรรัตน์มีชื่อในโฉนดที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์มีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งขึ้น ส่วนพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามที่ได้ความจากผู้เสียหายและนางสาวกิติวันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจนในการแอบอ้างว่าได้ติดต่อประธานศาลฎีกา ความผิดฐานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 เป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 เรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดี อันเป็นคุณแก่ผู้เสียหายที่จะได้รับโฉนดที่ดินที่มีชื่อผู้ขายมาดำเนินการซื้อขายต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 จะติดต่อประสานงานกับประธานศาลฎีกาหรือไม่ อย่างไร หาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเรื่องของการจ้างงานตามปกติที่มุ่งหมายให้ได้โฉนดที่ดินมาขายเพื่อแบ่งเงินส่วนต่างกัน หากแต่เป็นการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายอันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีความรู้กฎหมายย่อมทราบดีว่าการจะดำเนินการให้นางจุไรรัตน์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองย่อมทำไม่ได้โดยชอบเพราะคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ตั้งทรัสตีและคดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ทั้งการให้ผู้เสียหายสั่งจ่ายเช็คถึง 6 ฉบับ ฉบับละ 1,500,000 บาท โดยไม่ระบุชื่อหรือขีดคร่อม โดยจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใดย่อมเป็นพิรุธ ส่อแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการกระทำและความไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ในการเรียก รับเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนที่จะจูงใจเจ้าพนักงาน จึงไม่น่าเชื่อว่าเงิน 9,000,000 บาท จะเป็นเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามปกติ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์ทั้งห้าปากกระทำการโดยทุจริต ต่างเป็นผู้กระทำความผิด โดยผู้เสียหาย นางสาวกิติวัน และพระสิงห์โตมุ่งประสงค์ให้เงิน 9,000,000 บาท เพื่อจูงใจเจ้าพนักงานให้กระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 พนักงานสอบสวนซึ่งทราบเหตุที่มาเบิกความ เป็นการช่วยเหลือผู้เสียหาย นางสาวกิติวัน และพระสิงห์โตมิให้ถูกดำเนินคดี จึงมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ด้วย จึงไม่ชอบที่จะรับฟังนั้น เห็นว่า ความรับผิดทางอาญาเป็นเรื่องการกระทำของแต่ละบุคคล แม้หากพยานโจทก์คนใดกระทำความผิดก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวกันต่างหาก หาทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งห้าปากรับฟังไม่ได้แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำบันทึกข้อตกลงแล้ว ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมเรียก รับเงินจากผู้เสียหายนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ด้วยในขณะทำบันทึกข้อตกลงกับผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายและนางสาวกิติวันว่า จำเลยที่ 3 แสดงตัวว่าเป็นน้องเขยของประธานศาลฎีกาและแจ้งแก่ผู้เสียหายว่าได้คุยกับประธานศาลฎีกาแล้ว จะรับเงิน 9,000,000 บาท ที่จะใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินไปใช้ก่อน โดยจำเลยที่ 3 แจ้งว่า จะให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของศาลฎีกาที่ให้ตั้งทรัสตี เพื่อให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้นางจุไรรัตน์เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีผลตามกฎหมาย แต่จะต้องให้จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกับนางจุไรรัตน์ให้เสร็จก่อนถึงจะให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งต่อผู้เสียหาย ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนสำคัญในการร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการเรียก และรับเงินจากผู้เสียหาย แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ด้วยในขณะทำบันทึกข้อตกลงหรือลายมือชื่อจำเลยที่ 3 จะเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักลดน้อยลง สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นรายละเอียดไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share