คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการในกรม ฯ เมื่อจำเลยทำหนังสืออันมีข้อความเท็จร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ข้อความที่จำเลยร้องเรียนกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควรเป็นไปในทำนองเรียกร้องเอาเงินจากจำเลย โดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ด้วย
ความผิดในฐานหมิ่นประมาท แม้จะกระทำด้วยเอกสารเป็นหนังสือร้องเรียน แต่ก็หาได้กระทำด้วยการโฆษณาไม่ จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 326 เท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทมาตรานี้ในคำขอท้ายฟ้อง คงอ้างแต่มาตรา 328 ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4
หากบทกฎหมายที่จำเลยกระทำผิดกรรมเดียวมีอัตราโทษเท่ากันอยู่ 2 บท ศาลก็ลงโทษบทหนึ่งบทใดในสองบทนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ว่าจำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อรถยนต์เก่าของที่ทำการไปรษณีย์ ฯ ชำระราคาแล้ว แต่โจทก์มิได้มอบทะเบียนรถยนต์ และโอนรถยนต์ให้ จำเลยทราบภายหลังว่า โจทก์ต้องการเงินตอบแทน ๒,๐๐๐ บาท จากจำเลยตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยไม่ให้ โจทก์จึงแกล้งหน่วงเหนี่ยวการโอน ขอความเป็นธรรมให้สั่งโจทก์โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลย อันเป็นข้อความเท็จ การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗,๓๒๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗,๓๒๘ ให้ลงโทษตามาตรา ๓๒๘ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนจากงบประมาณประเภทเงินเดือน เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนต่อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียน มีความหมายไปในทางกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ นั้น ยังเป็นการคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะความผิดของจำเลยในฐานหมิ่นประมาทนี้ แม้จะกระทำด้วยเอกสาร แต่ก็หาได้กระทำด้วยการโฆษณาไม่ จำเลยจึงคงมีความผิดตามมาตรา ๓๒๖ เท่านั้น แม้โจทก์จะมิได้อ้างบทมาตรานี้ในคำขอท้ายฟ้อง คงอ้างแต่มาตรา ๓๒๘ ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗,๓๒๖ ความผิดทั้ง ๒ บทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๓๗ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share