แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมจำเลยที่ 2 จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586,1627 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมมรดกจึงตกได้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ที่1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดกหามีสิทธิได้รับมรดกไม่
ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกัน แม้สัญญาดังกล่าวจะกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นในภายหน้าเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็เป็นสัญญาที่ให้จำเลยที่2 ผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียวจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในการรับมรดกในทรัพย์มรดกบางส่วนให้แก่โจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1619ไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โจทก์ที่ 1 เป็นน้องร่วมบิดามารดากับนางเจียว จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของนางเจียวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นางเจียวเป็นหญิงหม้ายไม่มีบุตรและถึงแก่ความตาย เมื่อเดือนเมษายน 2518 ทรัพย์มรดกของนางเจียวจึงตกได้แก่โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางเจียวดังภาพถ่ายท้ายฟ้อง หลังจากนางเจียวตายจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 2 ได้ไปประกาศรับมรดกที่ดินของนางเจียวรวม7 โฉนด โจทก์คัดค้าน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 4684 ข้างต้นนางเจียวได้ยกให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ได้ครอบครองมา 40 ปีแล้ว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 เบิกเงินฝาก 21,400 บาทจากธนาคารไปใช้ส่วนตัวโจทก์จ่ายเงินทดรองในการทำศพของนางเจียวเป็นเงิน 10,592 บาทขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกตามสัญญาข้อ (ข) 1, 2, 3 ให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาข้อ ค. ง. จ. ฉ. ที่ดินโฉนดเลขที่ 4684 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทางครอบครองและให้จำเลยใช้เงิน 10,592 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของนางเจียวโดยชอบด้วยกฎหมาย นางเจียวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25เมษายน 2518 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับมรดก เอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เป็นบันทึกข้อตกลงจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการรับมรดกของจำเลยที่ 2 ซึ่งทำขึ้นก่อนเจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1619 โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินโฉนดที่ 4684 ในฐานะเป็นเจ้าของจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทำศพคืน ทรัพย์มรดกบางอย่างอยู่ที่โจทก์ เช่น แหวนเพชรซีก สร้อยคอทองคำ ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 หรือให้ใช้ราคา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมปลอม ทรัพย์มรดกตามฟ้องแย้งนางเจียวมอบให้โจทก์เก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 หรือใช้ราคา
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 เป็นน้องร่วมบิดามารดาของนางเจียว นางเจียวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2518 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองได้ไปทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์มรดกของนางเจียวที่อำเภอดำเนินสะดวกตามเอกสารหมาย จ.2 นางเจียวได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมจริง แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางเจียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1627 เมื่อนางเจียวถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยที่ 2เป็นทายาทอันดับ 1 มรดกของนางเจียวจึงตกได้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ที่ 1 หามีสิทธิได้รับมรดกไม่
ในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์ “ได้ความว่าโจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518แต่นางเจียวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2518 ตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.3 แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 2 จะกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นในภายหน้าเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่โจทก์อ้าง แต่ก็เป็นสัญญาที่ให้จำเลยที่ 2 ผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางเจียวแต่ผู้เดียวจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในการรับมรดกในทรัพย์มรดกบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อหนังสือนี้ทำไว้ในขณะที่นางเจียวเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ก็ย่อมจะไม่มีมรดกตกทอดเพื่อให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในทรัพย์มรดกได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1619 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา หนังสือสัญญานี้จึงไม่มีผลบังคับ” ฯลฯ
พิพากษายืน