คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2400/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ล.ทำพินัยกรรมตั้งบุตรเจ็ดคนรวมทั้งโจทก์จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและยกที่พิพาทให้แก่บุตรทั้งเจ็ดคนละส่วน โจทก์จำเลยและบุตรผู้ได้รับมรดกยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินของรังวัดออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำขอรังวัดที่ดิน ทำให้ไม่อาจรังวัดได้ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อขอแบ่งมรดกหรือเป็นการฟ้องในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกที่มีหน้าที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามพินัยกรรมแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัว การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่พอถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยจะฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางหล่ำ ลัทธิกุล เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรของนางหล่ำ ๗ คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์จำเลยด้วย และตามพินัยกรรมได้ตั้งบุตรทั้งเจ็ดดังกล่าวเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกทั้งเจ็ดได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้รังวัดของจำเลยเสียเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดิน ไม่อาจทำการรังวัดได้ ขอให้บังคับจำเลยไปแสดงตนต่อเจ้าพนักงานที่ดินยินยอมให้รังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนด หากจำเลยไม่ปฏิบัติขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทหนี้นางหล่ำได้ยกให้แก่จำเลยบางส่วนเป็นเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ จำเลยได้ครอบครองมาจนได้สิทธิครอบครองแล้ว เมื่อมีการยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดิน ได้มีการตกลงให้รังวัดเฉพาะส่วนที่นางหล่ำมิได้ยกให้จำเลย ต่อมาจำเลยทราบว่าโจทก์กับพวกรังวัดเอาที่ดินส่วนของจำเลยด้วย จำเลยจึงขอยกเลิกการรังวัด ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทส่วนที่นางหล่ำได้ยกให้จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางหล่ำไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามแนวรั้วที่จำเลยปลูกเรือนอยู่ ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยยินยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินนอกจากส่วนของจำเลย หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นๆ ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์อ้างว่านางหล่ำทำพินัยกรรมตั้งบุตรเจ็ดคนรวมทั้งโจทก์จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ที่พิพาทตกได้แก่ผู้จัดการมรดกดังกล่าวคนละหนึ่งส่วน โจทก์จำเลยและบุตรผู้ได้รับมรดกยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำร้องของจำเลยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อขอแบ่งมรดกหรือเป็นการฟ้องในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกที่มีหน้าที่จะต้องแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามพินัยกรรม แต่เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัว มูลเหตุที่ฟ้องก็คือจำเลยยื่นคำร้องร่วมกับโจทก์และผู้จัดการมรดกอื่นขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำขอรังวัดของจำเลย เห็นว่ากระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่พอถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยจะฟ้องแย้ง จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
พิพากษายืน

Share