คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าคดีศาลแขวงย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43 ทั้งนี้โดยนัยแห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 5 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5) ฉะนั้นจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้กักกันจำเลยได้
กักกันมิใช่โทษอาญา แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(1) ซึ่งมีลักษณะเบากว่าโทษจำคุก(คำพิพากษาฎีกาในที่ประชุมใหญ่ที่ 1455/2511) ฉะนั้น จึงย่อมอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาให้กักกันจำเลยตามที่ผู้ว่าคดีฟ้องขอมาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ขวดกาแฟผง 1 ขวด ราคา 43 บาทของนายเปียเฮียง แซ่เตียว ไปโดยทุจริต ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วหลายครั้งตามประวัติแจ้งโทษท้ายฟ้องรวมทั้งเคยต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จำเลยพ้นโทษมายังไม่ครบ 5 ปี มากระทำผิดซ้ำอีก ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 92 และขอให้พิพากษากักกันจำเลยด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา และในข้อเคยต้องโทษมาแล้วด้วย

ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาให้จำคุกจำเลย 9 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 12 เดือนลดโทษกึ่งหนึ่งฐานรับสารภาพตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน กรณีถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย เมื่อพ้นโทษจำคุกแล้ว ให้ส่งตัวไปกักกันเป็นเวลา 5 ปี

จำเลยอุทธรณ์ในดุลพินิจโทษที่ลง และในกรณีให้ส่งจำเลยไปกักกันว่ามิได้ขออำนาจของศาลอาญาไว้ก่อน คำพิพากษาให้กักกันจึงมิชอบ

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับดุลพินิจโทษที่ศาลแขวงพระนครเหนือกำหนดลง แต่ในข้อให้กักกันจำเลยฐานเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัยนั้น เห็นว่าเป็นอำนาจพนักงานอัยการโดยเฉพาะ ผู้ว่าคดีฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้กักกันผู้กระทำผิดติดนิสัย พิพากษาแก้ โดยให้ยกคำขอโจทก์ที่ให้กักกันจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 5 บัญญัติให้ถือว่าการดำเนินคดีของผู้ว่าคดีเป็นการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ และให้ถือว่าผู้ว่าคดีมีอำนาจหน้าที่ซึ่งบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5) ซึ่งบัญญัติว่า พนักงานอัยการหมายถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้ ผู้ว่าคดีศาลแขวงย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าพนักงานอัยการดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษากักกันจำเลยได้ ส่วนในปัญหาที่ว่าศาลแขวงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้กักกันได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการส่งตัวจำเลยไปกักกันไม่ใช่โทษอาญา เป็นแต่เพียงวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39(1) ซึ่งมีลักษณะเบากว่าโทษจำคุก ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1455/2511 ศาลแขวงย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้กักกันจำเลยได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share