คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2398/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลพ.ศ.2427มาตรา11กำหนดให้ผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานเท่านั้นที่จะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในทางการเมืองส่วนข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งตามมาตรา9ไม่มีข้อห้ามเหมือนกับมาตรา11ฉะนั้นแม้ข้าราชการดังกล่าวจะเป็นวุฒิสมาชิกก็ไม่ขาดคุณสมบัติไม่ขัดต่อกฎหมาย กรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลบางส่วนเป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการเมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมาประชุมด้วยตนเองและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้แต่งตั้งผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการดังกล่าวย่อมจะมอบหมายให้ข้าราชการในกระทรวงที่ตนสังกัดอยู่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเข้าประชุมแทนในฐานะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ได้การประชุมที่มีผู้มาประชุมแทนดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลพ.ศ.2527มาตรา15 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาบทรายมีอำนาจตั้งคณะกรรมการบริหารได้ตามมาตรา20และมีอำนาจตั้งคณะกรรมการน้ำตาลทราบได้ตามมาตรา41ส่วนการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เพื่อให้คณะที่ปรึกษากฎหมายให้ความเห็นประกอบการพิจารณาเท่านั้นการตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายจึงไม่ขัดกฎหมายใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทราบเป็นของโจทก์ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทราบที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราบ พ.ศ. 2527ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 รวมทั้งมติและบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 25/2531 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2531เพิกถอนหนังสือและสำนักงานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบ สำนักงานปลัดกระทรวงที่ 11080/2531ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2531 เพิกถอนบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการน้ำตาลทราบที่นำเสนอต่อคณะกรรมการน้ำตาลทราบ คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์และหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบที่ยกอุทธรณ์ของโจทก์เพิกถอนการประชุมหรือบันทึกการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่9 มกราคม 2532
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เป็นฟ้องเคลือบคลุม และจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลไม่ชอบเพราะนายประภาส จักกะพาก ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องห้ามตามมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527 เห็นว่าพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2427 มาตรา 11กำหนดให้ผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานเท่านั้นที่จะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง หรือดำรงตำแหน่งในทางการเมือง ส่วนข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งตามมาตรา 9 ไม่มีข้อห้ามเหมือนกับมาตรา 11ฉะนั้น แม้นายประภาส จักกะพากจะเป็นวุฒิสมาชิกก็ไม่ขาดคุณสมบัติ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบที่ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากคณะกรรมการมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะกรรมการน้ำตาลทราบไม่ชอบเพราะมาตรา 80 วรรคสองบัญญัติให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายไม่ชอบ เพราะไม่มีกฎหมายรับรองไม่มีผู้แทนโรงงาน ผู้แทนส่วนราชการผู้แทนชาวไร่อ้อยตามมาตรา 41 เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์และตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2532มีผู้เข้าร่วมประชุม 13 คน ในจำพวกนี้มีผู้ได้รับแต่งตั้งให้มาประชุมแทน 3 คน เห็นว่า ผู้ที่มาประชุมแทน3 คน คือ นายจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม นายเฉลิมศักดิ์ นากสวาสดิ์รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์นายประเทือง ศรีรอดบาง รองอธิบดีกรมการค้าภายในแทนอธิบดีกรมการค้าภายในผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ นั้นเป็นการมาประชุมแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายในซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในฐานะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้แทนกระทรวงพาณิชย์อันเป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมาประชุมด้วยตนเองและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้แต่งตั้งผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน ดังนั้นกรรมการดังกล่าวย่อมจะมอบหมายให้ข้าราชการในกระทรวงที่ตนสังกัดอยู่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเข้าประชุมแทนในฐานะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ได้การประชุมครั้งที่ 1/2532เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532 จึงชอบด้วย มาตรา 15คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบมีอำนาจตั้งคณะกรรมการบริหารได้ตามมาตรา 20 และมีอำนาจตั้งคณะกรรมการน้ำตาลทราบได้ตามมาตรา 41ส่วนคณะที่ปรึกษากฎหมาย โจทก์มิได้นำสืบว่าการแต่งตั้งไม่ชอบอย่างไร และนายเชิดพงษ์ สิริวัชช์เบิกความเป็นพยานจำเลยแต่เพียงว่า คณะที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการน้ำตาลทราบไม่มีกฎหมายรับรองเท่านั้นเห็นว่า การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เพื่อให้คณะที่ปรึกษากฎหมายให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เท่านั้นการตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายจึงไม่ขัดกฎหมายใด
พิพากษายืน

Share