แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2533 และทนายของผู้ร้องลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม2533 ให้ผู้ร้องจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้ทนายโจทก์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 10 วัน แม้ผู้ร้องมิได้มาฟัง คำสั่งก็ต้องถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อผู้ร้องมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกา ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้มีหนังสือไปยังนายทะเบียนรับจดทะเบียนแก้ไขกรรมการชุดใหม่ของจำเลย เพื่อผู้ร้องจะได้แต่งตั้งทนายความเข้ามารักษาประโยชน์ของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2533 ฎีกาของผู้ร้องหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว”โดยมีลายมือชื่อทนายผู้ร้องผู้ยื่นฎีกาดังกล่าวเซ็นไว้ในช่วงระหว่างคำว่า “(ลงชื่อ)” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของผู้ร้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 ว่า “เสนอวันนี้รับเป็นฎีกาของผู้ร้อง สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้ผู้ร้องจัดการนำส่งให้แก่ทนายโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 10 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฎีกา การนำส่งถ้าหากไม่พบหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบก็ให้ปิด” ต่อมาวันที่6 กุมภาพันธ์ 2534 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนด 15 วันแล้ว ผู้ร้องหรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกาให้แก่ทนายโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลรายงานเกี่ยวกับการส่งสำเนาฎีกาให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงจะพิจารณาสั่งพร้อมกัน วันที่ 15 กุมภาพันธ์2534 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าการส่งสำเนาฎีกาให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ผู้ร้องไม่ได้นำส่งแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เซ็นรับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2534เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 10 วันแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 หลังจากผู้ร้องยื่นฎีกาก็ตาม การที่ทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลไว้ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น เป็นการแสดงเจตนาของผู้ร้องยอมรับผูกพันตนเองว่า จะมาฟังคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งแล้ว และศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 อันเป็นวันที่กำหนดนัดให้ผู้ร้องมาทราบคำสั่งแล้ว ฉะนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้ผู้ร้องโดยชอบและผู้ร้องทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2533 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534 และรายงานเจ้าหน้าที่ศาลฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ผู้ร้องเพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบด้วยมาตรา 246, 247”
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา.