คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกออกโฉนดใหม่ให้แก่ อ. ซึ่งเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์บางส่วนในที่ดินมีโฉนดมาโดยการครอบครอง แต่คำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องกลับขอให้ศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในอีกคดีหนึ่งที่สั่งอายัดที่ดินดังกล่าวเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์บางส่วนในที่ดินโดยการครอบครองให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของ อ. ต่อไป จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจบังคับให้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 496แขวงสาธร เขตสาธร (บางรัก) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนตามแผนที่สังเขป เนื้อที่ 125 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ต่อมานางสาวองุ่นถึงแก่กรรม นางสุรัตน์ มาเสมอผู้ร้องซึ่งเป็นน้องของนางสาวองุ่นได้ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ดังกล่าวออกเป็นเนื้อที่ 122 9/10 ตารางวา เท่าจำนวนเนื้อที่ดินที่นางสาวองุ่นครอบครอง แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจัดการให้โดยอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 418/2534 ของศาลชั้นต้น ให้เจ้าพนักงานที่ดินงดจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใด ๆ ในโฉนดที่ดินเลขที่ดังกล่าวทั้งแปลง แต่ผู้ร้องเห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดทำนิติกรรมเฉพาะนางจุไรรัตน์ ทัดตวร ผู้ร้องในคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับนางสาวองุ่นขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเลขที่ดังกล่าวและออกโฉนดที่ดินใหม่ให้แก่นางสาวองุ่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินแปลงนี้ปรากฎว่าเป็นป่าช้าหรือสุสานฝังศพอันถือได้ว่าเป็นที่ดินสาธารณะมิใช่เป็นที่ดินของนายโลไกจวยดังที่นางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุล นำสืบในชั้นไต่สวนขอแสดงกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงที่นางสาวองุ่นนำสืบว่า เป็นที่ดินของนายโลไกจวยดังที่ปรากฎในคำสั่งศาลชั้นต้น จึงไม่ตรงกับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน (โฉนด) ซึ่งระบุว่า เป็นที่ป่าช้า จึงไม่อาจมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้กระทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่นางสาวองุ่นเป็นการบังคับบุคคลที่มิได้เป็นคู่ความในคดีจึงไม่อาจกระทำได้ ทั้งผู้ร้องก็สามารถดำเนินการได้เองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 อยู่แล้ว พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 496 แขวงสาธร (สีลม) เขตสาธร (บางรัก) กรุงเทพมหานครเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนสิทธิการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินดังกล่าว เนื้อที่122 9/10 ตารางวา ที่นางสาวองุ่นได้กรรมสิทธิ์มา ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวองุ่นต่อไปด้วย เห็นได้ว่าคำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องแตกต่างจากที่ผู้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกออกโฉนดใหม่ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสาวองุ่น คำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจบังคับให้ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ร้อง”
พิพากษาให้ยกฎีกาของผู้ร้อง

Share