แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำและสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้างประมาณ 300 คน การนัดหยุดงานดังกล่าวมิได้เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่า มีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ทำงานในโรงงานมีการปิดประตูทางเข้าออกโรงงานเพื่อมิให้ลูกจ้างส่วนหนึ่งที่ประสงค์จะเข้าทำงานเข้าออกได้ มีการขว้างปาวัตถุก้อนหินก้อนอิฐเข้าไปในโรงงาน เหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติอาชีพของจำเลยและสภาพความผิดแล้ว สมควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิรัฐการทอได้เลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นกรรมการของสหภาพแรงงานวิรัฐการทอจำนวน 6 คน วันที่ 22 เดือนเดียวกันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าวประมาณ 300 คน ได้ร่วมกันนัดหยุดงานประท้วงที่บริเวณหน้าโรงงาน วันที่ 23 เดือนเดียวกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิรัฐการทอได้ประกาศเลิกจ้าง ลูกจ้างที่นัดหยุดงานอีก425 คน เป็นเหตุให้การนัดหยุดงานประท้วงต้องยืดเยื้อต่อไปจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2532 อันเป็นวันเวลาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งในวันดังกล่าวมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น โดยมีการปะทะและทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันระหว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานกับลูกจ้างที่ทำงานในโรงงาน อันเนื่องจากลูกจ้างที่นัดหยุดงานไม่ยอมให้ลูกจ้างที่ทำงานออกจากโรงงาน และมีการขว้างปาวัตถุก้อนอิฐก้อนหินเข้าไปในโรงงานด้วย วันที่ 8 เมษายน 2532 ลูกจ้างที่นัดหยุดงาน ได้ตั้งแถวปิดกั้นประตูทางเข้าโรงงานไม่ยอมให้ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการทำงานเข้าไปในโรงงาน หลังจากนั้นได้พากันเดินขบวนไปบ้านนายสุวัฒน์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเพื่อขอให้เจรจากับนายจ้างให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นัดหยุดงานด้วย ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเหตุที่ลูกจ้างนัดหยุดงานครั้งนี้เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวิรัฐการทอเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการของสหภาพแรงงานวิรัฐการทอ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า การนัดหยุดงานมิได้เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 อันจะทำให้ลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงานได้ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับในข้อนี้ คงฎีกาโต้เถียงว่า การนัดหยุดงานดังกล่าวเป็นการต่อรองเพื่อให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเท่านั้นหามีเจตนาประสงค์จะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เห็นว่า วิธีการนัดหยุดงานที่ลูกจ้างนำมาใช้เพื่อต่อรองกับนายจ้างครั้งนี้ นอกจากมิใช่การแก้ไขตามวิถีทางของกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งเปิดช่องให้แล้ว ยังเป็นวิธีการซึ่งไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของนายจ้างโดยทั่วไป กล่าวคือ แม้ในระยะเริ่มต้นลูกจ้างจะนัดหยุดงานด้วยความสงบ ต่อมาปรากฏว่ามีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ทำงานในโรงงาน มีการปิดกั้นประตูทางเข้าออกโรงงานเพื่อมิให้ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งที่ประสงค์จะเข้าทำงานเข้าออกได้ นอกจากนี้ยังมีการขว้างปาวัตถุก้อนอิฐก้อนหินเข้าไปในโรงงานด้วย เหตุเกิดริมถนนสาธารณะอันเป็นที่สัญจรของบุคคลทั่วไป การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง…”
พิพากษายืน