คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกทรัพย์มรดกที่ทายาทของเจ้ามรดกยึดถือไว้เพื่อนำมาจัดการตามอำนาจหน้าที่ เป็นการฟ้องคดีมรดก เมื่อฟ้องพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสี่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยเข้าครอบครองทำกินในที่ดินโดยยังไม่ได้แบ่งกัน ถือได้ว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นผู้มีสิทธิรับมรดก โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นตัวแทนของทายาทมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเพื่อจัดการแบ่งปันต่อไปได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องเช่นนั้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายง่วน แช่มชื้นผู้ตาย นายง่วน เจ้ามรดกมีภรรยาสองคนคือนางเล็ก และจำเลยที่ 1โดยมีบุตรกับนางเล็ก 2 คน ได้แก่โจทก์กับนายสนิท แช่มชื้นและมีบุตรกับจำเลยที่ 1 จำนวน 9 คน คือ จำเลยที่ 7 จำเลยที่ 5จำเลยที่ 4 นางน้อย นางทิม นางมะลิ และจำเลยที่ 3 นายสนิทถึงแก่กรรมไปแล้วโดยมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ 4 คนเจ้ามรดกมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 14เมื่อประมาณวันที่ 4 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกแปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแล้วแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย 4 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3591, 3592, 3593, 3594 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3593 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3592 และ 3594 ให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5ตามลำดับ และจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3591 ให้แก่จำเลยที่ 6และที่ 7 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการฉ้อฉลโจทก์และทายาทอื่น ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายง่วน แช่มชื้น ที่จำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 และพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3591, 3592, 3593 และ 3594 และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้วศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้การว่า นายง่วนและจำเลยที่ 1อยู่กินด้วยกันนาน 40 ปี ได้ร่วมกันจับจองบุกเบิกที่ดินสองแปลงคือที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 14 และที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 7 ก่อนนายง่วนถึงแก่กรรมได้จัดแบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7เข้าทำกินและครอบครองทำนา เมื่อปลายปี 2514 ถึงต้นปี 2515นายง่วนต้องการให้ที่ดินของตนมีหลักฐานเป็นโฉนดทั้งต้องการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และบุคคลอื่นที่ซื้อที่ดินบางส่วนจากนายง่วน จึงยินยอมให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ระหว่างดำเนินการนายง่วนถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการต่อและได้ออกโฉนดเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3591, 3592, 3593 และ 3594 จำเลยที่ 1 รับโฉนดที่ดินมาแล้วได้จัดการโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7ทันทีโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้เข้าครอบครองที่ดินในส่วนที่ตนได้รับยกให้โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเป็นเวลานานเกินกว่า10 ปีแล้ว ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 ถึง 3594 คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกินกว่า 10 ปี นับตั้งแต่นายง่วนถึงแก่กรรม และเกินกว่า 10 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับโอนและครอบครองที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในปัญหานี้เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายง่วน แช่มชื้น เจ้ามรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่ทายาทของเจ้ามรดกยึดถือไว้เพื่อนำมาจัดการตามอำนาจหน้าที่เป็นการฟ้องคดีมรดก ปรากฏว่านายง่วนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2515 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3กันยายน 2530 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่นายง่วนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินโดยยังไม่ได้แบ่งกัน ถือได้ว่าครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนทายาทอื่นผู้มีสิทธิรับมรดก โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นตัวแทนของทายาทมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเพื่อจัดการแบ่งปันต่อไปได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเช่นนั้นฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share