คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2374/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำอาวุธปืนเล็กกลซึ่งมีไว้ในราชการและนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้พร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนของกลางออกไปนอกหน่วยที่ตั้งซึ่งจำเลยประจำการอยู่ ติดตัวไปเป็นเวลาหลายวันโดยจะต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลออกไปต่างจังหวัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยในการยึดถืออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้เพื่อตนโดยมุ่งหวังจะใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นในทางก่อประโยชน์แก่ตนตลอดระยะเวลาดังกล่าว มิใช่เป็นการมีหรือใช้ในราชการเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการลาพักผ่อนของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 วรรคหนึ่ง และมิได้รับยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมไอคอม 1 เครื่อง ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต และในขณะที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยมีอาวุธปืนเล็กกล (เอ็ม 16)ขนาด .223 (5.56 มม.) เครื่องหมายโล่ตำรวจ เลขหมายประจำปืน9215047 จำนวน 1 กระบอก เครื่องกระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 25 นัด และซองกระสุนปืน 1 ซอง ซึ่งมีไว้ใช้ในราชการและนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 ทวิ วรรคสอง, 78ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 วรรคหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยโดยพนักงานคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดพัทลุง ซึ่งศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่คัดค้าน ข้อเท็จจริงตามรายงานนั้นได้ความว่า จำเลยรับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมู่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 42 ค่ายศรีนครินทร์ อำเภอทุ่งสงจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยไปเข้ารับการฝึกทบทวนประจำปีที่กองกำกับการของกองบังคับการฝึกพิเศษ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้เบิกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางจำนวน 180 นัด เพื่อใช้ฝึกทบทวน เมื่อฝึกทบทวนเสร็จแล้วจำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เหลือจำนวน 25 นัด ส่งคืนคลังอาวุธเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ตามปกติต้องทำความสะอาดอาวุธปืนจำเลยได้เบิกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำนวน 25 นัด เพื่อไปทำความสะอาดแต่จำเลยทำความสะอาดไม่ทันจึงนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวกลับภูมิลำเนาที่ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากจำเลยลาพักผ่อน 10 วันต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยให้นายวิโรจน์ ไหมชู ซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยขับรถยนต์กระบะไปส่งที่ค่ายศรีนครินทร์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่นายวิโรจน์จะไปทำธุระที่ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ก่อน แต่เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจสกัด จากการตรวจค้นรถยนต์กระบะพบประแจหลายอันยาเบื่อสุนัข 1 ถุง ไข่เป็ด 3 ฟอง คลุกยาเบื่อสุนัข ผ้าเต็นท์ ไม้คาน อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมอยู่ที่เอวของจำเลยซึ่งได้ถูกเปิดไว้ที่ความถี่คลื่นของสถานีตำรวจภูธรอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 5บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้เว้นแต่มาตรา 8 ทวิ มิให้ใช้บังคับแก่

(1) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนของ

(ก) ราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการ” การที่จำเลยเบิกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปเพื่อทำความสะอาด ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยทำความสะอาดอาวุธปืนในหน่วยที่ตั้งที่จำเลยปฏิบัติราชการอยู่นั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการ แต่จำเลยกลับนำอาวุธปืนพร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนของกลางออกไปนอกหน่วยที่ตั้งซึ่งจำเลยประจำการอยู่โดยมิได้นำไปใช้ในราชการทั้งที่จำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วว่าตนได้ลาพักผ่อนไว้ 10 วัน การที่จำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปเป็นเวลาหลายวันโดยจะต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลออกไปต่างจังหวัดเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยในการยึดถืออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้เพื่อตนโดยมุ่งหวังจะใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้นในทางก่อประโยชน์แก่ตนตลอดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งมิใช่เป็นการมีหรือใช้ในราชการเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการลาพักผ่อนของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงมิได้รับยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share