คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้ภริยาโจทก์ถึงแก่ความตายโจทก์นำสืบฟังได้ว่าเมื่อครั้งภริยาโจทก์มีชีวิตอยู่เป็นแม่บ้านจัดการบ้านเรือนด้วยตนเอง เมื่อภริยาโจทก์ถึงแก่กรรมโจทก์ต้องจ้างคนทำงานแทน 2 คนโดยทำหน้าที่ซักผ้า ตักน้ำ ถางหญ้า คนหนึ่ง ทำครัวกวาดถู-บ้านอีกคนหนึ่ง ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรค3 ประกอบด้วย มาตรา 1453
การที่ศาลกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้นั้นมิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา ศาลเป็นแต่กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิดและ กฎหมายก็บัญญัติให้ถือว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่วันทำละเมิดจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อน แม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วย จำเลยก็จะต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด
(วรรค 2 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ประจำทางของห้างหุ้นส่วนสงขลาขนส่งจำเลยที่ 2 โดยความประมาทเป็นเหตุให้ชนเสาและราวสะพานคอนกรีตตกลงไปในคลองระหว่างทางไปจังหวัดปัตตานี นางละม่อม สุนทรลักษณ์ ซึ่งโดยสารไปในรถถึงแก่ความตายและผู้โดยสารอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 1 ถูกศาลพิพากษาจำคุกมีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ตามคดีแดงที่ 1982/2507 ของศาลจังหวัดสงขลา การกระทำของจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดสงขลาขนส่งจำเลยที่ 2 โดยนายไถว หวานจิตร ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายของโจทก์ในฐานะสามีและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของนางละม่อมผู้ตาย ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและค่าขาดรายได้ของผู้ตายซึ่งมีอาชีพเป็นนายหน้า ค่าทรัพย์สินที่ผู้ตายนำติดตัวไปขณะเกิดเหตุและสูญหาย ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมเป็นเงินซึ่งหักจากได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้ว 10,000 บาท จำนวน265,218 บาท และให้ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าวนับจากวันละเมิด

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยนอกนั้นให้การต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ความประมาทเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกสวนทางขึ้นมาบนสะพานเกิดเหตุร่วมกันจึงให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 3 ใน 4 ส่วน ในข้อหาเกี่ยวกับทรัพย์สินหายและผู้ตายมีอาชีพนายหน้าฟังไม่ได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย รวมเป็นเงินเมื่อหักจากที่โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้ว 10,000 บาท จำนวน 17,942.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันพิพากษา จนกว่าจะชำระเสร็จหากบังคับไม่ได้หรือขาดเท่าใด ให้บังคับเอาแก่นายไกวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3, 4

โจทก์และจำเลยที่ 2, 3, 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การตายของนางละม่อมเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว สมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเพิ่มขึ้นโดยให้นายสว่างโจทก์ได้รับ 35,000 บาท นางสาวสุปราณี เป็นเงิน 15,000 บาท เด็กหญิงพิมพรรณเป็นเงิน 30,000 บาท และดอกเบี้ยเห็นสมควรให้คิดนับแต่วันทำละเมิด พิพากษาแก้ ให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว และเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ตาย จำนวน 2,257 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 2 จำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดนอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2, 3, 4 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า การละเมิดเกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียวเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ แต่ในเรื่องค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่โจทก์อ้างว่าเป็นการขาดค่าแรงงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์นำสืบฟังได้ว่าเมื่อครั้งภริยาโจทก์มีชีวิตอยู่ เป็นแม่บ้านจัดการบ้านเรือนด้วยตนเอง เมื่อภริยาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ต้องจ้างคนทำงานแทน 2 คน โดยทำหน้าที่ซักผ้า ตักน้ำ ถางหญ้า คนหนึ่ง ทำครัว กวาดถูบ้าน อีกคนหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 1453 และกำหนดให้เป็นเงินทั้งสิ้น 4,800 บาท ส่วนนางสาวสุปราณีผู้เยาว์ขณะเกิดเหตุมีอายุ 19 ปี ศาลอุทธรณ์ให้ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 15,000 บาท มากไปเห็นสมควรคิดค่าขาดไร้อุปการะให้เพียง 9,000 บาท

ในปัญหาที่ว่า ค่าสินไหมทดแทนในเงินจำนวน 4,800 บาท ข้างต้นนี้จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันใด ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ศาลกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้นั้น มิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายนับแต่วันพิพากษาศาลเป็นแต่กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิด และกฎหมายบัญญัติให้ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันทำละเมิดจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อน แม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วยจำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด

พิพากษาแก้ ให้นายสว่างโจทก์ในฐานะสามีผู้ตาย ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนอีกเป็นเงิน 4,800 บาท ส่วนนางสาวสุปราณีให้ได้รับค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเงินเพียง 9,000 บาท และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินสองจำนวนข้างต้นนับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share