คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2355/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการที่จะปรับว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณากระทงความผิดเป็นกระทง ๆ ไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรก 4,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี และศาลอุทธรณ์ก็ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้อันเป็นการแก้มากก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีที่ห้ามมิให้คู่ความ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้สมคบกันทำพยานหลักฐานเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้นอันเป็นเท็จ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนและเบิกความเท็จต่อศาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔,๑๗๗, ๑๗๙, ๑๘๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องเฉพาะความผิดตามมาตรา ๑๗๓, ๑๗๔, ๑๗๗, ๑๗๙ และ ๑๘๑
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ ๓ ไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๙ ให้ปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท ผิดตามมาตรา ๑๗๔, ๑๘๑(๒) ให้จำคุกคนละ ๑ ปี และผิดตามมาตรา ๑๗๗, ๑๘๑(๒)ให้จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๒ ปี ปรับคนละ ๔,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ ด้วย
โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการที่จะปรับว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณากระทงความผิดเป็นกระทง ๆ ไป คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ ๑ กระทงแรก ๔,๐๐๐ บาท และให้จำคุกจำเลยที่ ๑ อีก ๒ กระทง กระทงละ ๑ ปี และศาลอุทธรณ์ก็ยังคงลงโทษจำเลยที่ ๑ ไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้อันเป็นการแก้มากก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีที่ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share