แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยมิได้ระบุห้ามก่อการวิวาทหรือชกต่อยกันนอกโรงงานหรือบริษัทฯแต่สาเหตุที่โจทก์ชกต่อยพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ของหัวหน้างาน แม้จะเป็นการกระทำนอกโรงงานหรือบริษัทของจำเลย ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่พนักงานด้วยกันของจำเลย และอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานของจำเลยตลอดจนอำนาจบังคับบัญชาของหัวหน้างานต่อไปในภายหน้า การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม.
โจทก์ชกต่อยหัวหน้างานนอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานหรือบริษัทของจำเลย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ความหมาย แห่ง ป.พ.พ.มาตรา 583 แต่เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตามบทมาตราดังกล่าว.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6กำหนดว่า “ในวันทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง ฯลฯ” เมื่อนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างได้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติไปจำนวนวันละ 1 ชั่วโมงเต็มลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกินไปนี้จากนายจ้าง โดยเฉลี่ย จากค่าจ้างของแต่ละวันที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง.
สิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดหรือตกลงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายจ้างได้เมื่อนายจ้างได้บันทึกข้อตกลงไว้ว่า ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แม้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ก็ย่อมหมายถึงสิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในระหว่างกำหนดเวลาที่โจทก์เรียกร้องค่าครองชีพ จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างที่จำเลยให้โจทก์ทำงานในเวลาพักค่าจ้างที่ค้างจ่ายและเงินสะสม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างและเงินค่าครองชีพที่ค้างชำระทุก ๆ ระยะ 7 วันนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป หรือพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินค่าจ้างและค่าครองชีพที่ค้างชำระ นับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ก่อนนั้นโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำงานครบ 1ปี จึงได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรงโดยทำร้ายผู้ช่วยหัวหน้าแผนกซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์โดยสาเหตุจากการทำงาน นอกจากนี้จำเลยยังเคยทุจริตและเลิกงานก่อนเวลาโดยมิได้รับอนุญาต การเลิกจ้างของจำเลยจึงมิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพ เพราะจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานในช่วงเวลาพัก ส่วนค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2531 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2531จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว จึงไม่ต้องจ่ายให้โจทก์ สำหรับค่าครองชีพตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2529 ถึงมกราคม 2530 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะระเบียบการจ่ายค่าครองชีพนั้น จำเลยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างประจำเท่านั้น ซึ่งระหว่างนั้นโจทก์ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ ส่วนเงินสะสมนั้นจำเลยพร้อมจ่าย หากแต่โจทก์ไม่ติดต่อขอรับเอง ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณาโจทก์แถลงว่า ค่าจ้างตามฟ้องข้อ 3.2 (ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2531 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2531เป็นเงิน 500.50 บาท) และเงินสะสมตามฟ้องข้อ 4 จำนวน 2,000 บาทโจทก์ได้รับไปจากจำเลยครบถ้วนแล้ว จึงไม่ติดใจเรียกร้องเอาจากจำเลยอีก
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ชกต่อยทำร้ายนายศักดา ทิพย์นุช ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้างานคนหนึ่งในแผนกของโจทก์ ด้วยสาเหตุที่นายศักดาไม่เปิดให้โจทก์ทำงานพิเศษ ทำให้โจทก์ขาดรายได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์เริ่มเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย นายศักดา ไม่มีฐานะเป็นนายจ้าง การที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (1)เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาซึ่งเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์ด้วยสาเหตุเกี่ยวกับการทำงาน ถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป โดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างที่ไม่ได้หักในระหว่างเวลาทำงานวันละ 1 ชั่วโมง จากจำเลย ในเดือนสิงหาคม 2529 ถึงเดือนมกราคม 2530 โจทก์ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าครองชีพตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน8,130 บาท พร้อมด้วยดอกเบั้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2531 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ทำร้ายนายศักดา ทิพย์นุช หลังเวลาเลิกงานแล้ว และเป็นการกระทำนอกบริเวณโรงงานของจำเลย ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 54 มิได้ครอบคลุมถึง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 54 มิได้ระบุห้ามการก่อการวิวาทหรือชกต่อยกันนอกโรงงานหรือบริษัทฯ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาซึ่งเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์ เนื่องจากนายศักดาไม่เปิดให้โจทก์ทำงานพิเศษจึงเป็นการทำร้ายนายศักดาเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่แม้จะเป็นการกระทำนอกโรงงานหรือบริษัทของจำเลยก็ตาม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่พนักงานด้วยกันของจำเลยและอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานของจำเลย ตลอดจนอำนาจบังคับบัญชาของนายศักดาต่อไปในภายหน้าอีกด้วย การกระทำของโจทก์ดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย ดังนั้น ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังที่โจทก์อุทธรณ์และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์อีก
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะโจทก์ชกต่อยนายศักดาด้วยสาเหตุเกี่ยวกับการทำงานนอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานของจำเลย ถือว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตนั้น ไม่เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์ชกต่อยนายศักดานอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานหรือบริษัทของจำเลยนั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แต่การที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาซึ่งเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์เพราะสาเหตุที่นายศักดาไม่เปิดให้โจทก์ทำงานพิเศษ อันเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่พนักงานด้วยกันของจำเลย ดังได้วินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์ข้างต้นย่อมถือได้ว่า โจทก์ได้ประพฤติชั่วตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 56 อันเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนแก่โจทก์
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยให้โจทก์ทำงานกะไม่ว่าจะเป็นกะเช้าตั้งแต่ 7-15 นาฬิกา หรือกะบ่ายตั้งแต่เวลา 15-23 นาฬิกา จำเลยไม่ได้จัดให้โจทก์หยุดพัก 1 ชั่วโมง ในระหว่างกะดังกล่าว คงมีแต่จ่ายเงินเป็นค่าอาหารให้คนละ 5 บาทต่อวัน เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในเวลาระหว่างทำงานให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเกี่ยวกับปัญหานี้มีความตามข้อ 6 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ว่า “ในวันทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง ฯลฯ” และมีคำจำกัดความของคำว่า “เวลาพัก” ในข้อ 2แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ว่า “หมายความว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงาน” ดังนั้นตามข้อบัญญัติดังกล่าวจึงมีความหมายว่า ในวันทำงานของลูกจ้างในแต่ละวันนายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานนั้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่จำเลยให้โจทก์ทำงานกะไม่ว่ากะเช้าหรือกะบ่าย จำเลยไม่ได้จัดให้โจทก์พัก 1 ชั่วโมง ในระหว่างทำงานกะดังกล่าวนั้นเลยโจทก์ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเต็ม ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ได้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 อย่างชัดแจ้งและทำให้โจทก์ต้องทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติของแต่ละกะในแต่ละวันไปเป็นจำนวนวันละ 1 ชั่วโมงเต็ม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกินไปนี้จากจำเลยได้โดยเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละวันที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย ซึ่งตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเป็นจำนวน 376 ชั่วโมงคิดเป็นเงิน 4,136 บาท จำเลยมิได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใดจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงินดังกล่าวนี้
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 ว่า ลูกจ้างชั่วคราวเมื่อทำงานเกิน120 วัน แม้จะยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.9 จำเลยได้ตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างประจำคนละ 400 บาท ต่อเดือน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ด้วยนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมายล.9 จำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดหรือตกลงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยได้ ในเมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้บันทึกข้อตกลงไว้ว่าลูกจ้างประจำของจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพก็ต้องเป็นไปตามนั้น แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำก็ตาม ก็ย่อมหมายถึงสิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในระหว่างกำหนดเวลาที่โจทก์เรียกร้องมา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าครองชีพดังกล่าวให้แก่โจทก์ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางข้อ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย จ่ายค่าจ้างส่วนที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติวันละ 1 ชั่วโมง เป็นเงิน 4,136 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5ตุลาคม 2531 อันเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”