คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานกำหนดให้โจทก์วางเงินประกันการทำงานไว้ต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างและกำหนดเงื่อนไขในการที่โจทก์จะได้เงินดังกล่าวคืนเมื่อลาออกจากงานว่า โจทก์ได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีโดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยกว่า 1 เดือน เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ประกันความเสียหายเนื่องจากการทำงานไม่ครบกำหนดสองปีตามข้อตกลง และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามเงื่อนไขข้อบังคับของจำเลย มิใช่เป็นเงินประกันค่าเสียหายเนื่องจากการทำงานของโจทก์ขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับในกรณีผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาเมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ถึงสองปี และได้ลาออกโดยมิได้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยกว่า 1 เดือน อันเป็นการผิดข้อตกลงและเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยย่อมได้รับความเสียหาย และกรณีไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินประกันได้ทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองเริ่มเข้าทำงาน จำเลยได้เรียกเก็บเงินจากโจทก์ทั้งสองคนละ ๓,๕๐๐ บาท เพื่อเป็นประกันความเสียหายในการทำงาน ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ลาออกจากงาน โดยมิได้ทำความเสียหายให้แก่จำเลยแต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินประกัน ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๓,๕๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ในการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างนั้นโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีเงื่อนไขและข้อตกลงกันว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องวางเงินประกันการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนแรก และจำเลยจะคืนเงินจำนวนนี้เมื่อโจทก์ลาออก และได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยบอกกล่าวการลาออกและได้รับอนุมัติตามเงื่อนไขข้อบังคับของจำเลยเหตุที่ต้องให้โจทก์ทั้งสองวางเงินประกันเนื่องจากจำเลยจะต้องมีการฝึกอบรมพนักงานของจำเลยเพื่อให้ใช้สินค้าต่างๆ ที่จะขายหรือบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง หากโจทก์ทั้งสองทำงานไม่ครบตามข้อตกลงจะเป็นภาระให้จำเลยต้องหาพนักงานใหม่เพื่อทำการฝึกเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ โจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยยังไม่ครบสองปีตามข้อตกลง และการลาออกของโจทก์ทั้งสองก็ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและประกาศของจำเลย จำเลยไม่ต้องคืนเงินประกันให้โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๓,๕๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองสมัครทำงานกับจำเลยโดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงว่า ‘พนักงานใหม่จะต้องมีบุคคลค้ำประกันและต้องวางเงินค้ำประกันการทำงานเป็นเงินสดเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนแรกที่ได้รับจากบริษัท และบริษัทจะคืนเงินจำนวนนี้เมื่อพนักงานลาออกและได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยบอกกล่าวการลาออกและได้อนุมัติตามเงื่อนไขข้อบังคับของบริษัท’ ซึ่งปรากฏหลักฐานตามใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสอง (เอกสารหมายล.๑, ล.๓) ข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย และตามข้อบังคับของบริษัท (เอกสารหมาย ล.๕) ข้อ ๑๓ วรรคสอง กำหนดว่า ‘บริษัทสงวนสิทธิที่จะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงานถ้าพนักงานผู้นั้นลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ เดือน และทำงานอยู่กับบริษัทน้อยกว่าสองปี’ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยไม่ครบสองปี และมิได้บอกกล่าวการลาออกให้จำเลยทราบล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ เดือน โจทก์ทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง และผิดข้อตกลงแห่งสภาพการจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินค้ำประกันให้โจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อตกลงและเงื่อนไขระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย ซึ่งปรากฏหลักฐานตามใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสอง ตามเอกสารหมาย ล.๑, ล.๓ และข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๕ ที่ให้โจทก์ทั้งสองวางเงินประกันการทำงานไว้ต่อจำเลยและกำหนดเงื่อนไขในการที่โจทก์ทั้งสองจะได้เงินดังกล่าวคืนเมื่อลาออกจากงานว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยกว่า ๑ เดือนนั้น เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย เงินประกันที่โจทก์ทั้งสองวางไว้ต่อจำเลยนั้นเป็นเงินประกันความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ครบกำหนดสองปีตามข้อตกลง และมิได้บอกกล่าวการลาออกล่วงหน้าตามเงื่อนไขข้อบังคับของจำเลย มิใช่เป็นเงินประกันค่าเสียหายเนื่องจากการทำงานของโจทก์ทั้งสองขณะที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่เงินดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับในกรณีผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า เมื่อโจทก์ทั้งสองทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ถึงสองปี และได้ลาออกโดยมิได้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยกว่า ๑ เดือน อันเป็นการผิดข้อตกลงและเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยย่อมได้รับความเสียหายแล้ว และกรณีไม่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน จำเลยจึงมีสิทธิรับเงินประกันได้ทั้งหมด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน.

Share