คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระเบียบการของธนาคารจำเลยฉบับที่ 67 ระบุว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่พนักงาน เฉพาะกรณีตามที่ระบุไว้ในข้อ 11 คือ (1) มีเวลาทำงานต่ำกว่าห้าปี (2) ออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ธนาคารจำเลยต้องเสียหาย หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานและคณะกรรมการของธนาคารจำเลยเห็นว่า ไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้ (3) ออกจากงานเพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยเกิน 5 ปีแล้ว แม้โจทก์จะถูกจำเลยไล่ออกจากตำแหน่งเนื่องจากโจทก์ขาดงานละทิ้งหน้าที่เกิน 15 วัน เป็นการเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน แต่คณะกรรมการธนาคารจำเลยก็ไม่เคยมีความเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามที่จะไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ต่อมาจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง และงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและเงินตอบแทนอื่นใดทั้งสิ้น โดยที่โจทก์ไม่ได้อยู่ในข้อต้องห้ามไม่ให้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ) ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานออมสิน ข้อ 11(2) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง จำนวน 148,410 บาท ทั้งโจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิสงเคราะห์ตามระเบียบวิธีการสวัสดิสงเคราะห์ ฉบับที่ 3 ว่าด้วยการสวัสดิสงเคราะห์กรณีมรณกรรมและกรณีพ้นหน้าที่ ซึ่งจำเลยจะต้องเรียกเก็บจากสมาชิก คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังไม่จ่ายเงินเดือนแก่โจทก์คิดเป็นเงิน 1,746 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง จำนวน 148,410 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยจ่ายเงินสวัสดิสงเคราะห์กรณีพ้นหน้าที่ตามจำนวนเงินที่จำเลยเก็บจากสมาชิกได้ และเงินเดือนค้างจ่าย 6 วัน เป็นเงิน 1,746บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 29ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่งเพราะกระทำผิดวินัย โจทก์ขาดงานละทิ้งหน้าที่ไปเกิน 15 วัน เท่ากับว่าโจทก์มีความเกียจคร้านในการทำงานและไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานอีกโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ข้อ 11(2) และหากจำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์ จำเลยก็จะจ่ายเป็นเงิน120,360 บาท มิใช่ 148,410 บาท ส่วนเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 6ธันวาคม 2530 นั้นเป็นเงิน 1,370.32 บาท มิใช่ 1,746 บาท และจำเลยได้นำเงินเดือนดังกล่าวของโจทก์ไปหักกับหนี้สินเชื่อของจำเลยเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนเงินสวัสดิสงเคราะห์กรณีพ้นหน้าที่นั้น ไม่ใช่เงินงบประมาณรายรับรายจ่ายของจำเลย แต่เป็นเงินของพนักงานของจำเลยที่เสียสละแต่ละเดือน คนละ 5 บาท รวบรวมให้แก่พนักงานที่ออกจากงานด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่และเงินสวัสดิสงเคราะห์ดังกล่าว มีคณะกรรมการซึ่งเป็นพนักงานชุดหนึ่งดูแลซึ่งไม่เกิดดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อย่างใดโจทก์จึงต้องนำคดีไปฟ้องคณะกรรมการสวัสดิสงเคราะห์ โจทก์ยังไม่เคยติดต่อขอรับเงินสวัสดิสงเคราะห์จากเจ้าหน้าที่แผนกสวัสดิการ แผนกสวัสดิการจึงหาได้ผิดนัดในการจ่ายเงินสวัสดิสงเคราะห์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์แถลงรับว่า เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองมีจำนวน 120,360 บาท กับขอสละประเด็นเรื่องเงินสวัสดิสงเคราะห์และเงินค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้อง และโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าเอกสารท้ายฟ้องท้ายคำให้การถูกต้อง คณะกรรมการธนาคารออมสินได้ประชุมมีมติไล่โจทก์ออกจากตำแหน่งโดยไม่กล่าวถึงเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และคณะกรรมการธนาคารออมสินไม่เคยมีมติในเรื่องเงินทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวอีกเลยต่อมาผู้อำนวยการธนาคารออมสินมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง กับให้งดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและเงินตอบแทนอื่นใดทั้งสิ้น จำเลยแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ)จำนวน 120,360 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โดยลักษณะของการประชุมของคณะกรรมการธนาคารออมสิน ผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้เข้าประชุมด้วย การที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง กับงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ และเงินตอบแทนอื่นใดทั้งสิ้นแก่โจทก์ ย่อมแสดงว่าในการประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสินในกรณีของโจทก์ย่อมต้องกล่าวถึงการงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้แก่โจทก์ด้วย แม้ตามมติของคณะกรรมการธนาคารออมสินตามเอกสารหมาย จ.1 จะไม่ปรากฏข้อความว่างดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองก็ตาม ก็เป็นที่เข้าใจโดยปริยายว่า คณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติไม่จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์เช่นกัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2532 ซึ่งโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าคณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง โดยไม่กล่าวถึงเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 และคณะกรรมการธนาคารออมสินก็ไม่เคยมีมติในเรื่องเงินทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวของโจทก์อีกเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นเรื่องโต้เถียงข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยได้แถลงรับกันไว้ซึ่งฟังได้เป็นที่ยุติแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามคำฟ้องและตามประเด็นที่โจทก์จะขอนำสืบ เห็นได้ว่า โจทก์มิได้มีเจตนากล่าวถึงข้อความในมติเอกสารหมาย จ.1 เพราะโจทก์เองก็ทราบว่า ในการที่จำเลยงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์นั้นถูกต้องแล้ว เพียงแต่โจทก์เข้าใจว่า การที่ขาดงานเกิน 15 วัน มิใช่เป็นกรณีเกียจคร้านจึงไม่เข้าเหตุตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ข้อ 11(2) เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การขาดงานเกิน 15 วัน เป็นการเกียจคร้าน จำเลยงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์จึงชอบด้วยระเบียบทุกประการ พิเคราะห์แล้ว ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง กับงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและเงินตอบแทนอื่นใดทั้งสิ้นโดยที่โจทก์ไม่ได้อยู่ในข้อต้องห้ามไม่ให้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองจากจำเลย เนื่องจากถูกจำเลยมีคำสั่งไล่ออกจากตำแหน่ง โดยที่โจทก์ไม่ได้อยู่ในข้อต้องห้ามไม่ให้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ข้อ 11(2) หาได้มีข้อความตอนใดเป็นการยอมรับหรือเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ยอมรับว่า จำเลยงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์เป็นการถูกต้องแล้ว การที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่โจทก์หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ซึ่งระบุว่าธนาคารออมสินไม่ต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองแก่พนักงาน เฉพาะกรณีตามที่ระบุไว้ในข้อ 11 สามประการเท่านั้น คือ (1) มีเวลาทำงานต่ำกว่าห้าปี (2) ออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน และคณะกรรมการธนาคารเห็นว่า ไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้ (3) ออกจากงานเพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นความผิดฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท กรณีของโจทก์นั้นได้ความว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2513 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2530 รวมเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยเกิน 5 ปีแล้ว และ โจทก์ถูกจำเลยไล่ออกจากตำแหน่งเนื่องจากโจทก์ขาดงานละทิ้งหน้าที่ไปเกิน 15 วัน เป็นการเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน แต่การออกจากงานเพราะเหตุนี้คณะกรรมการธนาคารออมสินจะต้องมีความเห็นด้วยว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง แต่เมื่อกรณีของโจทก์ คณะกรรมการธนาคารออมสินไม่เคยมีความเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามที่จะไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง ฉะนั้นการที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากตำแหน่ง กับงดจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองให้แก่โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share