คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างบุคคลล้มละลายกับบุคคลภายนอก หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน และให้บุคคลภายนอกโอนที่ดินสู่กองทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายถ้าไม่สามารถโอนได้ให้ใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ยนั้น ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน มิใช่นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอน เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่และยังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องขอให้เพิกถอน และปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่เมื่อใดเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองถูกฟ้องขอให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่6 ตุลาคม 2531 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปี ก่อนจำเลยทั้งสองถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3725 ให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ต้องห้ามตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินรายนี้หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 1,307,320 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับโอนที่ดินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3725ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้าน ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ผู้คัดค้านกลับสู่ฐานะเดิมโดยให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 หากผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนาของผู้คัดค้านหากไม่สามารถโอนได้ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 1,307,320บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอน (วันที่ 27 กันยายน 2533)ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวถือได้ว่าผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตได้ความดังนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ทั้งนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2กับผู้คัดค้านศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านใช้ราคาที่ดินพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอน (วันที่ 27 กันยายน 2533) ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จนั้น เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านชำระตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน (วันที่ 15พฤศจิกายน 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share