แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้แน่นอน และกำหนดให้วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานนอกเหนือจากกำหนดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันทำงานหรือทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เกินกำหนดเวลาทำงานปกติหรือเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานระยะเวลาซึ่งจะนำมาคำนวณค่าล่วงเวลาย่อมนับเวลาทั้งหมดคือ ตั้งแต่ลูกจ้างเริ่มทำงานนอกเวลาจนถึงเวลาหมดหน้าที่หรือเสร็จสิ้นการงานแม้ในระหว่างเวลาดังกล่าว ลูกจ้างมีงานทำเพียงบางครั้งบางคราวแต่เวลาที่ไม่มีงานทำลูกจ้างก็มีหน้าที่ต้องอยู่ประจำตามหน้าที่เพื่อรอรับคำสั่ง ต้องถือว่าลูกจ้างทำงานอย่างหนึ่งให้นายจ้าง นายจ้างจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคิดเฉพาะระยะเวลาช่วงที่ลูกจ้างปฏิบัติงานเท่านั้นหาได้ไม่ นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกิน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานในวันทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติและทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ไม่ครบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนมีหน้าที่ปิดเปิดเครื่องสูบถ่ายน้ำมันของจำเลยซึ่งจะปิดเปิดเมื่อมีคำสั่งเป็นครั้งคราวเท่านั้นสภาพและลักษณะของงานไม่ใช่งานที่ต้องทำตลอดเวลา จึงเป็นงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36 โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาทั้งมีข้อตกลงว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง งานที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันทำนั้นเป็นงานประเภทที่สามารถทำคนเดียวได้ โจทก์แต่ละสำนวนจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนชั่วโมงที่ทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีหน้าที่ปิดเปิดสวิตช์เครื่องสูบถ่ายน้ำมันของจำเลยการทำงานตามหน้าที่นั้นใช้เวลาทำงานคือปิดเปิดสวิตช์เฉพาะกรณีได้รับแจ้งคำสั่ง ซึ่งจะแจ้งมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น มิได้ปิดเปิดตลอดเวลาแต่เวลานอกนั้นโจทก์ทั้งสองสำนวนต้องประจำอยู่ที่เครื่องสูบถ่ายน้ำมันทั้งนี้เพื่อรอรับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองสำนวนได้ทำงานตามหน้าที่ดังกล่าวในวันทำงานและในวันหยุดประจำสัปดาห์เกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานและในวันหยุดประจำสัปดาห์ในแต่ละวันเกินวันละ 6 ชั่วโมง แต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งสองสำนวนเพียงวันละ 6 ชั่วโมงนั้น เมื่อปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 34, 42 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างตามจำนวนเวลาที่ทำเกิน หรือเกินชั่วโมงที่ทำเกินเวลาทำงานปกติแล้วแต่กรณี ไม่มีข้อกำหนดให้นายจ้างมีอำนาจจ่ายค่าล่วงเวลาเพียงบางส่วน ข้อ 3 กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้และข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ เมื่อได้ความว่าจำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติไว้ตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา ถึงเวลา 16.30 นาฬิกา และกำหนดให้วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองสำนวนทำงานในวันทำงานหรือทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เกินกำหนดเวลาทำงานปกติ หรือเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานระยะเวลาซึ่งจะนำมาคำนวณค่าล่วงเวลา ย่อมนับเวลาทั้งหมดตั้งแต่โจทก์ทั้งสองเริ่มทำงานนอกเวลาจนถึงเวลาหมดหน้าที่หรือเสร็จสิ้นการงาน แม้ในระหว่างเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองสำนวนมีงานทำเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาที่โจทก์ไม่มีงานทำ โจทก์ทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องประจำอยู่ที่เครื่องสูบถ่ายน้ำมันของจำเลยเพื่อรอฟังคำสั่งต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองสำนวนทำงานอย่างหนึ่งให้แก่จำเลย จำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคิดเฉพาะระยะเวลาช่วงที่โจทก์ทั้งสองสำนวนปิดเปิดเครื่องสูบถ่ายน้ำมันหาได้ไม่
พิพากษายืน